สนุกรู้...5 สัมผัส จากของกิน
โดย: กมลชนกหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของเจ้าหนู
สัมผัสทั้ง 5 กลไกในการเรียนรู้ที่มีติดตัวเจ้าหนูมาตั้งแต่เกิด เป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มความอยากรู้อยากเห็นของลูกที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
โดยผ่านการชิม ดม สัมผัส มองเห็น และได้ยิน
นี่คือหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของเจ้าหนูอ.1 ทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน
ทำไมต้อง 5 สัมผัส
น้องเล็กวัยนี้เขาสามารถเชื่อมโยงจากสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน สัมผัส หรือดมกลิ่น แล้วแปลเป็นการรับรู้ได้ค่ะ เช่น เวลาเจ้าหนูได้กลิ่นหอมโชยมาจากห้องครัวเมื่อไร ก็จะวิ่งตรงมาที่โต๊ะอาหารทันที เพราะเขารับรู้ว่าถ้าได้กลิ่นแบบนี้ แสดงว่าคุณแม่กำลังทำของอร่อยๆ มาให้
สิ่งนี้เรียกว่าประสบการณ์ ซึ่งเกิดจากการเชื่อมโยงกันทั้งภาพ เสียง กลิ่น สัมผัส ออกมาในรูปแบบของการรับรู้ค่ะ ทำให้เขาสามารถเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว มากกว่าคำพูดหรือการบอกกล่าวของคุณแม่
สัมผัสที่ 1 ชิมรส : ด้วยความอยากรู้อยากเห็นอยากลอง น้องเล็กวัยนี้จึงโปรดปรานการชิมอาหารเป็นทุนเดิม ที่สำคัญเขาสามารถกินอาหารที่หลากหลายได้มากขึ้นแล้ว ลองให้เขาชิมอาหารที่มีหลายๆ รสชาติ เปรี้ยว เค็ม หวาน หรืออาหารหลายๆ แบบ เช่น ผลไม้นิ่มๆ กรอบ เป็นการช่วยกระตุ้นประสาทรับรสของเขาและฝึกการเคี้ยว
Tip ชวนลูกสนุกกับการกินด้วยการ เช่น ?ลูกลองชิมดูสิค่ะว่าในข้าวผัดจานนี้ คุณแม่ใส่ส่วนประกอบอะไรบ้าง? เป็นการฝึกให้เขารู้จักแยกแยะด้วยการให้ทายส่วนผสมของอาหาร
สัมผัส ที่ 2 ตาดู : เป็นทักษะที่เขาใช้บ่อยที่สุดค่ะ อาจชี้ชวนให้เขาสำรวจวัตถุดิบในตู้เย็น สังเกตลักษณะของผักผลไม้ชนิดต่างๆ ทั้งสี ลักษณะใบ และฝึกให้เขาได้ลองเปรียบเทียบความเหมือนหรือความต่างของผักแต่ละชนิด พร้อมสอดแทรกเรื่องราวน่ารู้ เช่น ?ที่ใบผักคะน้ามีรู เพราะว่ามันโดนหนอนกิน แสดงว่าคะน้าต้นนี้ไม่มียาฆ่าแมลงค่ะ?
Tip ชวนหนูสนุกกับการเรียนรู้เรื่องรูปทรงเรขาคณิตจากผักผลไม้ เช่น ทรงกลมจากแตงโม พอแบ่งครึ่งแล้วกลายเป็นครึ่งวงกลม พอแบ่งครึ่งอีกทีกลายเป็นทรงปิรามิด
สัมผัส ที่ 3 หูฟังเสียง : การฟังเป็นทักษะที่ช่วยให้เจ้าหนูมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี และสามารถแยกแยะเสียงต่างๆ ได้ดีเมื่อได้ยินเสียงนั้นบ่อยๆ ค่ะ เช่น เสียงคุณแม่บอกชื่อผักชนิดต่างๆ เสียงสับหมู เสียงตำน้ำพริก สิ่งสำคัญคือต้องให้เขาได้เห็นต้นตอเสียงนั้นด้วยว่าคืออะไร การได้ยินซ้ำๆ จะทำให้เขารับรู้และจดจำได้ค่ะ
Tip สนุกกับการฟังและเสียงที่หลากหลาย เช่น นำวัสดุต่างๆ มาเขย่าในขวดพลาสติก แล้วให้เจ้าหนูลองทาย เช่น น้ำ เมล็ดถั่ว เกลือ
สัมผัส ที่ 4 กายสัมผัส : เป็นทักษะที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเจ้าหนูได้มากเลยค่ะ การเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้มือหรือส่วนต่างๆ สัมผัสกับพื้นผิวต่างๆ ของอาหาร เช่น เส้นสปาเก็ตตี้ก่อนต้ม และหลังต้มแตกต่างกันอย่างไร เยลลี่ หรือพื้นผิวของผักผลไม้ต่างๆ
Tip ให้หนูช่วยเป็นลูกมือในครัว คอยหยิบวัตถุดิบส่งให้คุณแม่ ให้เขาได้สัมผัสถึงรูปทรง ลักษณะพื้นผิว แถมยังได้ฝึกเป็นตาชั่งด้วยสองมือของหนูเองอีกด้วย
สัมผัส ที่ 5 ดมกลิ่น : สัมผัสสุดท้ายที่ถูกละเลยมากที่สุดค่ะ คุณสามารถช่วยกระตุ้นทักษะนี้ได้โดยให้เขาดมกลิ่นอาหารต่างๆ ที่ไม่ฉุนเกินไป เช่น กลิ่นหอมคุกกี้ในเตาอบ กลิ่นกาแฟของคุณพ่อ กลิ่นใบเตย จะช่วยให้เขาจดจำและสามารถแยกแยะกลิ่นต่างๆ ได้มากขึ้น
Tip ไม่ต้องถึงขนาดว่าจะต้องให้เขาจดจำกลิ่นทุกอย่างได้หมดนะคะ ค่อยเป็นค่อยไปดีที่สุดค่ะ
ทีนี้ก็อยู่ที่คุณแล้วล่ะค่ะว่าจะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้เจ้าหนูได้มากน้อยแค่ไหน เพราะสิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่การส่งเสริมและกำลังใจที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ด้วยค่ะ
จาก: |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น