วันเสาร์ที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2554

เรื่องน่ารู้ในการดูแลฟันเด็ก

ผลกระทบของโทรทัศน์ต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการในเด็ก พิมพ์ อีเมล
08 ก.พ. 2007 01:09น.
ผลกระทบของโทรทัศน์ต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการในเด็ก
                สื่อโทรทัศน์ให้ทั้งสาระและความบันเทิง เป็นแหล่งของข้อมูลทางวิชาการ  ข่าวสาร กีฬา วัฒนธรรม ให้แก่เด็ก ในขณะเดียวกันข้อมูลหลากหลายหากไม่ได้คัดกรองให้เหมาะสมก็อาจส่งผลในทางลบแก่เด็กได้  ผลกระทบจะมากน้อยเพียงไรขึ้นกับเนื้อหาของรายการ รูปแบบวิธีการนำเสนอ และระยะเวลาที่เด็กดูโทรทัศน์
Image
                ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาพบว่าเด็กดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ 3 ชม. และหากรวมวีดีโอเทปและวีดีโอเกม เด็กจะใช้เวลาอยู่หน้าจอวันละประมาณ 6.5 ชม. การมีโทรทัศน์ในห้องนอนจะทำให้เด็กดูรายการต่างๆ มากขึ้น จึงเป็นที่สงสัยเสมอว่าการดูโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะมีผลกระทบกับเด็กอย่างไรบ้าง

                สื่อโทรทัศน์มีผลกระทบต่อเด็กในหลายๆ ด้าน รวมทั้งพฤติกรรม ทัศนคติ และความเชื่อ ซึ่งผลอาจเห็นได้ในทันที เช่น ขัดใจ กระทืบเท้า ร้องกรี๊ดๆ เหมือนดาราคนโปรด หรือผลกระทบนั้นค่อยๆ สะสม เมื่อเด็กรับข้อมูลนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น ใช้การต่อสู้หรือใช้วิธีรุนแรงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เห็นว่าการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าทำให้ดูมีเสน่ห์ น่าสนใจ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพ การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน โดยไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาทั้งการติดโรค และตั้งครรภ์ เป็นต้น ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องมีความรู้ และเข้าใจถึงผลกระทบของโทรทัศน์ที่จะมีต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก

ผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม

ความรุนแรง
: จากรายงานของ American Academy of Pediatrics (AAP) พบว่า ปัจจุบันความรุนแรงที่เห็นจากโทรทัศน์และสื่อต่าง ๆ มีเพิ่มขึ้นมาก ประมาณร้อยละ 60 ของรายการต่าง ๆ จะมีความก้าวร้าวรุนแรงสอดแทรกอยู่ รายการของเด็กโดยเฉพาะการ์ตูนที่ผลิตในสหรัฐระหว่างปี ค.ศ. 1937-1999 จะมีความรุนแรงแทรกอยู่ด้วยทุกเรื่อง  และมักใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง

                การดูรายการที่มีความก้าวร้าวรุนแรง อาจทำให้เด็กกังวล สงสัย กลัว นอนไม่หลับ ฝันร้ายหรือซึมเศร้า หรืออาจมีแนวโน้มที่จะแสดงความรุนแรงเพิ่มขึ้น เด็กอายุ 2-7 ปีมักตกใจกลัวเมื่อดูรายการที่น่ากลัวเช่นผี สัตว์ประหลาด เพราะเด็กไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องจริงและเรื่องสมมุติได้

                เด็กอายุ 8-12 ปี มักจะตื่นเต้นตกใจ เวลาเห็นความรุนแรงผ่านจอโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรือภาพข่าว เช่น ภัยพิบัติ สงคราม เหยื่อที่ถูกกระทำ เป็นต้น พ่อแม่ควรอธิบายให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อคลายความกังวลให้กับเด็ก

                มีการศึกษามากมายถึงความก้าวร้าวรุนแรงในโทรทัศน์ที่มีต่อเด็กและวัยรุ่น ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

-         เด็กที่ดูโทรทัศน์ตั้งแต่เล็ก ๆ จะเรียนรู้ สังเกต จดจำ และซึมซับความรุนแรง และใช้ความก้าวร้าวรุนแรงต่อคนอื่นในการแก้ปัญหา แทนที่จะใช้การควบคุมตนเองหรือใช้วิธีการอื่น

-         การรับรู้ความรุนแรงผ่านทางสื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลานานๆ จะทำให้เด็กชาชินไปกับความรุนแรง และขาดความเอื้ออาทรต่อบุคคลอื่นในชีวิตจริง และอาจแสดงออกถึงความก้าวร้าวเมื่อโตเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่  เพราะเด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะซึมซับสิ่งต่าง ๆ ที่เห็น รายการต่าง ๆ ในโทรทัศน์จะเป็นแม่แบบ สร้างค่านิยม ทัศนคติ หล่อหลอมเด็ก หากพ่อแม่ไม่มีเวลาคอยสอนหรือชี้แนะ


พฤติกรรมทางเพศ : รายการต่างๆ มีการแสดงออกของพฤติกรรมทางเพศมากขึ้น รวมทั้งการใช้บุหรี่ เหล้า ยาและสารเสพติดในลักษณะเชิญชวนโดยไม่ได้แสดงถึงผลเสียของสิ่งเหล่านี้ จากคณะทำงานของ AAP ลงความเห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่สำคัญ และวัยรุ่นเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับเพศศึกษาจากสื่อต่างๆ เป็นอันดับสองรองจากโรงเรียน

                เด็กๆ ได้เห็นพฤติกรรมทางเพศของผู้ใหญ่ผ่านสื่อโทรทัศน์ ซึ่งแสดงออกถึงความสนุกสนาน ตื่นเต้น และถือเป็นเรื่องปกติโดยไม่ได้สอดแทรกถึงผลเสียที่จะตามมาจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย การติดโรค ตั้งท้อง ความรับผิดชอบหรือหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง เด็กวัยรุ่นดูแล้วอาจเข้าใจผิด อยากลอง อยากรู้ หรืออยากทำตามเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ใหญ่ มีข้อมูลที่แสดงว่าวัยรุ่นที่ดูรายการที่มีการแสดงบทบาททางเพศบ่อยๆ มักจะมีเพศสัมพันธ์ที่อายุน้อยกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้ดู

ผลทางโภชนาการ
                เด็กใช้เวลาในการดูโทรทัศน์มากเป็นอันดับสองรองจากการนอน เด็กที่ดูโทรทัศน์มากมักจะอ้วน  เพราะเวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการดูโทรทัศน์ จึงไม่มีเวลาเหลือในการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหว และขณะดูโทรทัศน์เด็กมักกินเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาหาร เครื่องดื่มหรือขนมขบเคี้ยวที่มีแคลลอรี่สูงที่โฆษณาในโทรทัศน์

                นอกจากนั้นสื่อโทรทัศน์ยังเน้นภาพลักษณ์ที่ต้องผอมบาง ทำให้เด็กหญิงกังวลเกี่ยวกับน้ำหนัก และพยายามที่จะควบคุมน้ำหนักตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งจะมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเด็ก (เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าภาพลักษณ์ที่ดูดีในโฆษณานั้น สื่อโทรทัศน์ได้ใช้เทคนิคต่างๆ ตกแต่งเพื่อให้ดูสวยงาม)
ผลต่อความคิดสร้างสรรและภาษา

                เด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะเหลือเวลาน้อยลงในการเล่น อ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือพูดคุยกับเพื่อนหรือผู้ใหญ่ ทักษะทางภาษาจะพัฒนาได้ดีต้องอาศัยการพูดคุยสื่อสารสองทาง โต้ตอบกันไปมาผ่านทางการเล่น การอ่าน และทำกิจกรรม

                รายการโทรทัศน์ทางการศึกษา บางรายการที่ผลิตมาเฉพาะสำหรับเด็ก อาจช่วยให้เด็กที่อายุมากกว่า 2 ปีได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ บทสนทนาหรือทักษะทางสังคม แต่สำหรับเด็กเล็กๆแล้ว เด็กจะเรียนรู้จากของจริงหรือประสบการณ์ตรงได้มากกว่า
ผลต่อการเรียน
               เวลาที่เด็กใช้ในการทำการบ้านมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการเรียนหนังสือ หากดู TVนานจะมีผลต่อการทำการบ้านและรบกวนเวลานอนของเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กง่วงนอน ไม่มีสมาธิในเวลาเรียน และคะแนนตกต่ำ รายการที่มีคุณภาพจะมีผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็ก เด็กวัยเตรียมอนุบาลที่ดูรายการโทรทัศน์ทางการศึกษา  ทำคะแนนอ่านและเลขได้ดีกว่าเด็กทีไม่ได้ดู เมื่อเลือกใช้อย่างระมัดระวังและเหมาะสม TV ก็อาจเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีของเด็กๆ
โฆษณา
                เด็กๆ ดูโฆษณา > 20,000 รายการต่อปี วัยรุ่นยอมรับว่าโฆษณาบุหรี่ เบียร์ ไวน์ เหล้าในโทรทัศน์มีผลทำให้วัยรุ่นอยากลองสูบและดื่ม โดยที่โฆษณาเหล่านั้นจงใจที่จะไม่บอกถึงผลเสียที่จะตามมา เด็กเล็กๆ มักจะตกเป็นเหยื่อของโฆษณา ซึ่งเด็กๆ มักจะรบเร้าให้พ่อแม่ซื้ออาหารหรือสิ่งของต่างๆ ตามที่เห็นในโฆษณา
ผลกระทบของโทรทัศน์ต่อเด็กเล็ก
                Anderson และ Pempek 2005 ได้รวบรวมงานวิจัยถึงผลกระทบของโทรทัศน์ที่มีต่อเด็กเล็ก เพื่อยืนยันและสนับสนุนคำแนะนำของ AAP ที่ไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 24 เดือนดูโทรทัศน์ เพราะปัจจุบันมีรายการที่ตั้งใจผลิตมาเพื่อเด็กเล็ก และเด็กๆปัจจุบันนี้ใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์นานมากกว่าในอดีต เมื่อเปรียบเทียบกันพบว่าเด็กเรียนรู้จากการมีประสบการณ์จริงมากกว่าการเรียนรู้จากโทรทัศน์

                การศึกษาส่วนใหญ่ยืนยันถึงผลกระทบในแง่ลบที่มีต่อการเรียนรู้ พัฒนาทางภาษา และสมาธิของเด็กเล็ก และมีเพียงรายงานเดียวที่พบว่ารายการโทรทัศน์บางรายการมีผลดีต่อการเรียนรู้ทางภาษาของเด็ก

                ในเด็กเล็กแบ่งการรับสื่อโทรทัศน์เป็นสองทางใหญ่ๆ คือ รายการโทรทัศน์ที่ทำมาเพื่อเด็กเล็กโดยเฉพาะ เพื่อให้เด็กสนใจ เข้าใจได้และตั้งใจดู (Foreground television) ซึ่งรายการเหล่านี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับเด็ก ส่วนรายการที่ไม่ได้ทำมาสำหรับเด็ก เด็กดูไม่เข้าใจ ไม่สนใจดู มักเป็นรายการของผู้ใหญ่ (Background Television) ซึ่งมักจะรบกวนสมาธิของเด็กในการเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่ หากพ่อแม่ดูโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะลดเวลาที่จะเล่นและมีปฎิสัมพันธ์กับเด็กลง ทำให้การเรียนรู้ของเด็กลดลง

                ตั้งแต่มีการผลิตวีดีโอสำหรับเด็กเล็ก เช่น Baby Einstein และรายการโทรทัศน์เรื่อง Teletubbies ในปี 1990s เด็กเล็กๆ ใช้เวลาในการดูโทรทัศน์เพิ่มขึ้นมาก พบว่าเด็กเล็กอายุ 2 ½ –24 เดือน  ดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ   2 ชม.

ผลต่อพัฒนาการด้านการมองและการฟัง
                ขณะดูโทรทัศน์ ลูกตาจะมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก ซึ่งการกลอกตาและให้ลูกตาได้มีการเคลื่อนไหวมองสำรวจ สังเกตสิ่งต่างๆ จำเป็นสำหรับการมองเห็นและพัฒนาด้านมิติสัมพันธ์ (การกะระยะและมองภาพ 3 มิติ) ซึ่งการดูโทรทัศน์นอกจากเป็นการมองภาพเพียงสองมิติแล้ว ยังมีผลต่อการจ้องมอง สังเกต และสมาธิ ส่วนในเรื่องของทักษะการฟังนั้น การเปิดโทรทัศน์ตลอดเวลาจะรบกวนสมาธิในการฟังของเด็ก ส่วนผลของรายการโทรทัศน์ซึ่งนำเสนอภาพและเสียงที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อาจจะกระตุ้นเด็กมากเกินไป  มีผลต่อสมาธิของเด็ก และอาจมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น
เมื่อเข้าสู่วัยเรียนนั้น งานวิจัยยังมีข้อขัดแย้ง และยังไม่สามารถสรุปได้


บทบาทของพ่อแม่
พ่อแม่ควรมีบทบาทในการดูโทรทัศน์ของเด็กโดย

1.       เข้าใจถึงบทบาทและอิทธิพลของโทรทัศน์ที่มีต่อเด็กทั้งในแง่บวกและลบ เพื่อเลือกใช้โทรทัศน์ให้ได้ประโยชน์เต็มที่แก่เด็ก  เด็กเล็กๆ แม้อายุน้อยกว่า 1 ปี  ชอบและสนใจดูโทรทัศน์ แต่พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีดูโทรทัศน์ ถึงแม้ว่าจะมีการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กเล็กๆ ก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของสมองแสดงให้เห็นว่าเด็กเล็กๆ ควรได้ทำกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่น ร้องเพลง พูดคุย อ่านหนังสือ เล่านิทาน วิ่งเล่น และทำกิจกรรมหลากหลาย เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาของสมองและทำให้เด็กพัฒนาทักษะทางสังคม อารมณ์และทักษะด้านอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่

2.       พ่อแม่ควรมีความรู้เกี่ยวกับสื่อ  เพื่อให้เข้าใจและรู้ทันสื่อ สามารถเลือกใช้โทรทัศน์ให้เกิดประโยชน์แก่เด็กและหลีกเลี่ยงผลเสียที่จะตามมา ให้ทราบถึงข้อแนะนำของ AAP ในการดูโทรทัศน์ เช่น

·       พ่อแม่ควรสร้างกฎ กติกาในการดูโทรทัศน์กับลูก และทำให้ได้
·       เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรดูโทรทัศน์
·       เด็กเตรียมอนุบาล (Preschool) ไม่ควรดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ 1-2 ชม. ยิ่งดู TV นานมากเท่าไร จนเหลือเวลาในการทำกิจกรรมอื่นน้อยลงเท่านั้น
·       เด็กวัยเรียนอาจดูได้มากกว่านี้ แต่พ่อแม่ควรต้องช่วยเลือกรายการหรือดูโทรทัศน์ร่วมกับลูกๆ พูดคุยถึงรายละเอียดของรายการที่ลูกดู เพื่อช่วยชี้แนะ ถาม-ตอบ ฝึกแก้ปัญหา
·       ไม่ให้มีโทรทัศน์ในห้องนอนเด็ก
·       เลือกรายการที่มีสาระ ให้ข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้แก่เด็ก และควรหลีกเลี่ยงรายการที่มีความก้าวร้าวรุนแรง
·       กำหนดรายการที่จะดูโทรทัศน์ให้ชัดเจน  เมื่อจบรายการให้ปิดทีวี ไม่กดปุ่มเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ
·       สนับสนุนให้เด็กและวัยรุ่นได้ทำกิจกรรมอื่น เช่น เล่นกีฬา อ่านหนังสือ หางานอดิเรกทำ
·       ไม่ดูโทรทัศน์ขณะทานอาหารหรือก่อนทำการบ้านเสร็จ
·       พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูโทรทัศน์ เพราะพ่อแม่จะเป็นต้นแบบให้เด็กทำตาม

โดยสรุป
                โทรทัศน์เป็นสื่อที่สำคัญที่เข้าถึงทุกครัวเรือน และมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการ พฤติกรรม และการเรียนรู้ของเด็ก  ผู้ปกครองควรทราบถึงผลดี และผลเสียของรายการโทรทัศน์ที่มีต่อเด็ก จำกัดเวลาและรายการที่เหมาะสมร่วมกับเด็ก พร้อมทั้งให้พ่อแม่ได้มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนสถานการณ์กับเด็กโดยใช้รายการโทรทัศน์เป็นสื่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และป้องกันผลเสียที่จะตามมาจากสื่อโทรทัศน์


รศ.พญ.จันท์ฑิตา  พฤกษานานนท์
คลินิกเด็ก ดอท คอม


เรื่องน่ารู้ในการดูแลฟันเด็ก



ในปัจจุบันถึงแม้ว่าผู้คนจะให้ความสนใจและใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของเด็ก และถ้าท่านเป็นคนหนึ่งในนั่นแล้วละก็ ผมขอเตือนให้เปลี่ยนความคิดนั้นเสียใหม่โดยเร็ว พร้อมทั้งหันกลับมาให้ความใส่ใจสุขภาพช่องปากของเด็กหรือลูกหลานของท่านให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากทัศนคติและนิสัยต่างๆของเด็ก จะเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว และจะเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เด็กผู้นั้นสนใจที่จะดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของตัวเองต่อไปในอนาคต จนตลอดชีวิต

ประโยชน์ของฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายว่า มีส่วนช่วยในการป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันตแพทย์อาจจะแนะนำหลายๆหนทาง ในการให้ฟลูออไรด์ในเด็กดังนี้





ดื่มน้ำดื่มที่มีฟลูออไรด์
รับประทานฟลูออไรด์ชนิดเม็ดหรือชนิดน้ำ ในกรณีที่ในชุมชนนั้นมีค่าฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม ต่ำกว่ามาตรฐาน
การเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์
การแปรงฟันด้วย ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ
การใช้น้ำยาบ้วนปาก ที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบในเด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป
จากผลการวิจัยพบว่าฟลูออไรด์ จะช่วยลดการเกิดฟันผุได้มากกว่า 50% ในเด็กทีเดียวครับ

ฟันผุจากขวดนม (Baby Bottle Tooth Decay)

การเกิดฟันผุจากขวดนม จะทำให้ฟันน้ำนมได้รับความเสียหาย และถูกทำลายได้ สาเหตุของฟันผุจากขวดนมเกิดขึ้นมาจาก การที่ฟันของเด็กสัมผัสกับของเหลว ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอยู่เป็นประจำ เช่น นมขวด รวมถึงนมแม่ด้วย , น้ำผลไม้ และน้ำหวานต่างๆ

สมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้กระทำสิ่งต่างๆต่อไปนี้เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุในเด็ก เริ่มทำความสะอาดช่องปากให้เด็กทารกที่มีอายุเพียง 2-3 วันหลังจากการดูดนมแม่ทุกครั้ง โดยการใช้ผ้าชุบน้ำหรือผ้าก๊อซเช็ดตามบริเวณเหงือกของเด็ก ทั้งนี้เพื่อขจัดคราบต่างๆออกไป อย่าให้เด็กอมขวดนมหรือดูดนมแม่ติดต่อกันนานมากเกินไป ห้ามให้เด็กดูดนมหรือน้ำหวานต่างๆจนกระทั่งเด็กหลับคาขวดนม ถ้าเด็กติดขวดนมจริงๆก็ให้ใช้น้ำเปล่าใส่ขวดนมให้เด็กดูดแทน พยายามให้เด็กเลิกดูดขวดนมโดยเร็วที่สุด และดื่มนมจากถ้วยแทนเมื่อเด็กเริ่มถือถ้วยเองได้แล้ว
ปลูกฝังให้เด็กรู้จักการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และสอนให้เด็กมีสุขลักษณะนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร

การเคลือบร่องฟัน
การเคลือบร่องฟัน จะสามารถช่วยป้องกันฟันผุที่จะเกิดบนด้านบดเคี้ยว ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดในการเกิดฟันผุในเด็กได้



วัสดุที่ใช้จะเป็นพลาสติกใสหรือมีสีอื่นๆก็ได้ โดยจะเคลือบไปบนด้านบดเคี้ยว อุดปิดหลุมและร่องบนตัวฟันของฟันหลัง ซึ่งเป็นที่ที่จะเกิดฟันผุได้บ่อยมาก

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการเคลือบร่องฟันได้ที่นี่

เด็กชอบดูดนิ้ว
ในทารกหรือเด็กเล็กการดูดนิ้วถือเป็นสิ่งปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อฟันแท้เริ่มขึ้นมาในช่องปาก และถ้าเด็กยังคงติดนิสัยดูดนิ้วอยู่แล้วละก็ เด็กอาจจะมีความผิดปกติในการเจริญเติบโต ของอวัยวะในช่องปาก รวมทั้งการเรียงตัวของฟันก็อาจจะผิดปกติไปด้วย

เรื่องนี้ทางสมาคมทันตแพทย์ แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า

ควรให้เด็กเลิกดูดนิ้วโดยเด็ดขาด ในทันทีที่ฟันแท้ซี่แรกขึ้นมาในช่องปาก ซึ่งปกติจะเมื่อเด็กอายุประมาณ 6-7 ขวบ
พ่อแม่ควรจะให้รางวัลเด็ก เมื่อเด็กสามารถ หยุดหรือเลิกจากการดูดนิ้วได้
ถ้าการตักเตือนดีๆ เช่น การให้รางวัลหรือใช้เหตุผลไม่ได้ผล พ่อแม่อาจจะผ้าพันแผลพันที่ นิ้วเด็กเอาไว้เมื่อเด็กเข้านอน หรือจะใช้ถุงเท้าสวมมือเด็กเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กดูดนิ้วได้

ฟันยางป้องกัน
ในเด็กที่ชอบออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเสมอๆ เช่น ฟุตบอล , ขี่จักรยาน , Roller Blade , Skate ควรจะใส่ฟันยางเอาไว้เพื่อป้องกันการกระแทกกันของฟัน ซึ่งจะทำอันตรายต่อฟัน เหงือกและช่องปากได้

ฟันยางแบบสำเร็จรูป สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วๆไป และทำไว้หลายขนาดให้เลือกตามขนาดของช่องปาก อย่างไรก็ตามถ้าต้องการฟันยางที่สามารถใส่ได้พอดี กับช่องปากของเด็กแต่ละคน ทันตแพทย์ก็สามารถทำให้ได้ ปรึกษาทันตแพทย์ของท่านถึงฟันยางป้องกันได้ครับ



ภาวะฉุกเฉินต่างๆ
การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินในทางทันตกรรมในเด็ก จะเป็นจุดตัดสินว่า เด็กจะสามารถเก็บรักษาฟันเอาไว้ได้ต่อไปหรือไม่ ทางสมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำต่างๆเมื่อเกิด ภาวะฉุกเฉินทางทันตกรรมในเด็กไว้ดังนี้

ฟันหลุดออกมาจากช่องปากเนื่องจากอุบัติเหตุ ถ้าฟันสกปรกหรือมีฝุ่นผงติดอยู่ ให้ล้างฟันด้วยน้ำก๊อกที่ไหลเบาๆ ห้ามขัดถูเพื่อเอาเศษเนื้อที่ติดอยู่ออก จากนั้นให้ใส่ฟันซี่นั้นกลับไป ในที่ที่มันหลุดออกมา แล้วจึงพาเด็กไปพบทันตแพทย์ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ให้นำฟันใส่ลงในถ้วยที่มีน้ำเย็นอยู่ แล้วพาเด็กพร้อมกับฟันซี่นั้น ไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรไปพบทันตแพทย์ภายใน 30 นาที
ปวดฟัน ให้เด็กบ้วนปากด้วยน้ำอุ่น เพื่อทำให้ช่องปากสะอาด จากนั้นให้ใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดเศษอาหาร ที่อาจจะติดอยู่บริเวณซอกฟัน ห้ามใช้ยาแก้ปวดไปแปะติด ตรงบริเวณที่ปวดฟันเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดแผลไหม้ได้ จากนั้นให้พาเด็กมาพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด

เท่านี้หลายๆท่านคงจะสามารถดูแลฟันเด็กได้ดียิ่งขึ้นแล้วนะครับ ที่สำคัญคือ อย่าลืมพาเด็กไปตรวจสุขภาพฟันกับทันตแพทย์ทุก 6 เดือนครับ

เอกสารอ้างอิง : ADA News Release ; Feb 1996 ; American Dental Association
แหล่งที่มา
http://www.siamdental.com/indexconf.htm

วันอาทิตย์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2554

เด็กเล็กกับการดูทีวี

ทีวีนั้นมีประโยชน์ แต่ดูเท่าไหร่ถึงจะพอดีไม่เป็นภัย


โทรทัศน์กับเด็กเล็กคือประเด็นที่มักมีการถกเถียงกันมากมายในกลุ่มคุณพ่อคุณแม่ และระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับพี่เลี้ยงเด็ก เมื่อเร็วๆ นี้ BBC ได้นำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับเด็กเล็กที่ดูโทรทัศน์ โดยกล่าวว่า การดูโทรทัศน์นานๆ อาจส่งผลเสียต่อการเรียนและส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กได้ในระยะยาว


ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Pediatrics and Adolescent Medicine โดย Dr. Linda Pagani จากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล เธอกล่าวว่า "วัยเด็กเล็กเป็นช่วงสำคัญสำหรับการพัฒนาสมองและการกำหนดพฤติกรรม ...การดูโทรทัศน์มากๆอาจทำให้เด็กวัยนี้มีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเขาในอนาคต"


เธอกล่าวต่อว่า "เรารู้เองโดยสามัญสำนึกว่า การดูโทรทัศน์จะแย่งเวลาที่เด็กควรใช้ในการทำกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมการใช้ตรรกะ พฤติกรรม และการเคลื่อนไหวของเด็กเล็ก"


ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูเด็กต่างก็แนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้จำกัดเวลาดูโทรทัศน์ของลูกน้อยมาเป็นเวลานานแล้วค่ะ เมื่อช่วงต้นปี 2548 นักวิจัยชาวสหรัฐฯ จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบความสัมพันธ์ระหว่างการให้เด็กทารกชมโทรทัศน์กับความสามารถในการเรียนรู้ในอนาคตของเด็กที่ด้อยลง


ฟังดูน่ากลัวนะคะ แต่ยังไงก็ตาม เราต้องยอมรับว่าโทรทัศน์มีประโยชน์สำหรับการเลี้ยงน้องมาก โดยเฉพาะเวลาที่ไม่มีผู้ใหญ่คนอื่นอยู่บ้านคอยดูแลเด็กๆ แล้วคุณกำลังติดธุระอื่น อย่างเช่น ตอบอีเมล์ที่สำคัญ จ่ายบิล หรือกำลังเตรียมกับข้าว โทรทัศน์จะเป็นเครื่องช่วยได้อย่างดี และถ้าเป็นรายการที่ช่วยให้ความรู้ ก็จะช่วยลดอันตราย (รวมทั้งความรู้สึกผิดด้วย) ที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกน้อยนั่งดูโทรทัศน์ได้ค่ะ


สำหรับตัวฉันแล้ว ฉันไม่ยอมให้ลูกดูโทรทัศน์จนกระทั่งเขาอายุ 18 เดือนค่ะ วันที่ฉันให้น้องดูทีวีนั้นตรงกับวันหยุดของครอบครัวพอดี ซึ่งเป็นวันที่ฉันต้องลงมือทำกับข้าวให้น้องเองโดยไม่มีพี่เลี้ยงอยู่ด้วย รายการทีวี 30 นาทีช่วยให้ฉันสามารถเตรียมอาหารได้โดยไม่ถูกรบกวนค่ะ ตอนแรกฉันยอมให้ลูกดูทีวีได้วันละ 30 นาที จากนั้นค่อยๆ เพิ่มจนสูงสุดแค่ 1 ชั่วโมงค่ะ มีหลายวันที่น้องไม่ได้ดูทีวีเลย เพราะว่าเราจะพยายามหาเกมอื่นๆ ให้น้องเล่น หรือพาน้องไปสนามเด็กเล่น แต่ฉันก็ยอมรับค่ะว่าทีวีช่วยให้ฉันได้พักจริงๆ แม้ว่าฉันจะนั่งอยู่ข้างๆ เจ้าตัวน้อยอยู่ก็ตาม


ต่อไปนี้เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้โทรทัศน์กลายเป็นความบันเทิงหลักของลูกน้อยค่ะ

• ตกลงกับคุณพ่อและพี่เลี้ยงว่าควรให้น้องดูโทรทัศน์ได้เมื่อเขามีอายุเท่าไหร่

• จำกัดเวลาที่น้องจะได้รับอนุญาตให้ดูโทรทัศน์ในแต่ละวัน เพราะบางครั้ง พี่เลี้ยงเองก็อาจให้น้องดูทีวีเพื่อจะได้พักบ้าง ลองสังเกตว่าการที่น้องดูโทรทัศน์อาจเป็นเพราะเบื่อและขาดสิ่งกระตุ้นอื่นๆ ก็ได้นะคะ เช่น ของเล่นที่ท้าทายกว่าเดิม

• เลือกรายการคุณภาพที่เหมาะกับอายุของเด็ก และเป็นรายการที่ให้ความรู้

• ดูโทรทัศน์กับน้องทุกครั้งที่มีโอกาส และพูดคุยกับน้องเกี่ยวกับรายการที่ได้ดู การดูโทรทัศน์ร่วมกันจะช่วยให้คุณแม่มีกิจกรรมร่วมกับน้องมากขึ้น เป็นการเพิ่มการปฏิสัมพันธ์และการโต้ตอบระหว่างดูทีวี และช่วยให้คุณแม่ได้สังเกตว่าน้องเข้าใจสิ่งที่ดูมากน้อยแค่ไหน

• วางแผนให้น้องดูโทรทัศน์ในระหว่างที่คุณแม่ต้องการพัก หรือต้องทำอย่างอื่น เพื่อไม่ให้น้องดูโทรทัศน์เกินเวลาที่จำกัดไว้

• ซื้อหรือเช่าดีวีดีแทนที่จะดูรายการโทรทัศน์ เพื่อให้เป็นการจำกัด "เวลาดูโทรทัศน์" ที่ชัดเจน และน้องจะได้ไม่ต้องดูโฆษณา

• ส่งเสริมให้น้องเล่นตามลำพังเป็นช่วงสั้นๆ และกำหนดเวลาให้เขาได้เล่นนอกบ้านด้วยนะคะ
 

วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

สภาพแวดล้อมภายในและการจัดมุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็ก

 

สภาพแวดล้อมภายในและการจัดมุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็ก
เรียบเรียงโดย  อาจารย์พรรัก   อินทามระ

                                การจัดสภาพแวดล้อมให้กับเด็กปฐมวัยมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยส่งเสริมพัฒนาการ  ทั้งด้านร่างกาย  อารมณ์  จิตใจ  สังคม  และสติปัญญา  หากจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมจะเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย  ซึ่งการจัดสภาพแวดล้อมให้กับเด็กปฐมวัยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดให้เหมาะสม สอดคล้องกับวัยและธรรมชาติของเด็กปฐมวัย

การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน
                การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียนให้กับเด็กปฐมวัย ควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
                1. การจัดวางวัสดุควร จัดวัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์ ให้เหมาะสมสอดคล้องกับวัยและพัฒนาการ  เพื่อให้เด็กสามารถใช้หรือทำกิจกรรมได้สะดวกด้วยตนเอง  โดย วัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น และครุภัณฑ์ ที่จัดให้สำหรับเด็กปฐมวัยมีหลากหลาย เช่น  โต๊ะ เก้าอี้ ม้านั่ง กระดานขายของ บอร์ดติดผลงาน ตู้เก็บของ ที่แขวนถ้วย         ที่แขวนผ้าเช็ดหน้า ที่เก็บเครื่องนอน ห้องน้ำ ห้องส้วม ที่ล้างมือ ประตู หน้าต่าง สื่อ เครื่องเล่น เป็นต้น
                2. วัสดุ อุปกรณ์ สื่อ เครื่องเล่น ครุภัณฑ์  ควรให้มีขนาดเหมาะสมกับเด็กปฐมวัย
                3. การจัดพื้นที่ในห้องเรียนควรจัดให้เหมาะสม   เลือกที่ตั้งครุภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ  และมุมประสบการณ์     โดยคำนึงถึง
                    -  ทิศทางลมเหมาะสม และแสงสว่างเพียงพอต่อการทำกิจกรรม
                    -  มีแสงแดดส่องเหมาะสม ไม่รบกวนสายตาเด็กขณะปฏิบัติกิจกรรม
                    -  สร้างบรรยากาศให้ร่มรื่น
                    -  ทุกจุดของห้องควรให้มองเห็นได้โดยรอบ
                    -  จัดวาง/ตั้ง ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์ ที่สะดวกต่อการปฏิบัติกิจกรรม
                4.  สภาพแวดล้อมในห้องควรมีความปลอดภัย  โดย
                    -  พื้นห้องควรโล่ง  กว้าง  มีบริเวณนุ่ม  มีบริเวณที่ตั้งอุปกรณ์  สื่อ เครื่องเล่น
                    -  ตรวจความเรียบร้อยของวัสดุ อุปกรณ์ สื่อและเครื่องเล่นหากชำรุดต้องรีบซ่อมแซมโดยเร็ว
                    -  กำหนดขอบเขตของมุมประสบการณ์ให้เด็กรู้
                    -  หน้าต่าง  ครุภัณฑ์ต่างๆ  ไม่ควรทำด้วยกระจก
                    -  ดูแลบริเวณทั่วไปให้ปลอดภัยจากสัตว์ แมลง พืช และสารเคมีที่มีพิษ
                    -  ครุภัณฑ์ โต๊ะ เก้าอี้ ไม่ควรเป็นมุมแหลมที่เป็นอันตราย




* เอกสารประกอบการถวายความรู้พระภิกษุของสถาบันธรรมกายนานาชาติ หลักสูตรพุทธศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 4 ปี
     วิชา  การผลิตสื่อการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย  วันที่  7  ตุลาคม  2548  ณ วัดธรรมกาย  จังหวัดปทุมธานี
การจัดแสดงผลงานและการเก็บของ ควรคำนึงถึงเรื่องต่อไปนี้
                    -  จัดให้มีที่แสดงผลงานเสนอภาพเขียน  หรืองานหัตถกรรมเด็กๆ
                    -  จัดที่แสดงให้น่าสนใจและสดชื่น
                    -  ให้เด็กเห็นของแปลกๆ ใหม่ๆ ที่เด็กไม่เคยเห็น
                    -  ส่งเสริมให้เด็กๆ รู้จักเลือกสรรว่าจะทำอะไร จัดแสดงอะไร ฯลฯ
    -  กระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น
                    -  สอนให้รู้จักจัดของเป็นกลุ่ม และเลือกของออกมาใช้ตามความต้องการ
                    -  สร้างนิสัยในการเก็บของให้เป็นที่เป็นทาง

การจัดมุมเสริมทักษะ และการพัฒนาเด็ก (มุมประสบการณ์)
                                มุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็กหรือมุมประสบการณ์  เป็นสถานที่จัดไว้ในห้องเรียนเพื่อให้เด็กได้เล่นสื่อและเครื่องเล่นประเภทต่างๆ  โดยมุมเสริมทักษะและการพัฒนาการเด็ก (มุมประสบการณ์) จะมีสื่อและเครื่องเล่นจัดไว้ให้เด็กได้เล่น ซึ่งแต่ละมุมประสบการณ์จะมีลักษณะแตกต่างกัน ภายในห้องเรียนควรจัดมุมประสบการณ์ให้เด็กเล่นอย่างน้อย  5  มุมประสบการณ์  ทั้งนี้  ควรจัดมุมสงบกับมุมที่ส่งเสียงดัง ไว้ห่างกัน  มุมที่เด็กต้องใช้สมาธิในการเล่นหรือทำกิจกรรมควรอยู่ใกล้กัน  มุมที่เล่นแล้วทำให้เกิดเสียงดังก็ควรอยู่ใกล้กัน เช่น มุมหนังสือกับ      มุมเกมการศึกษาอยู่ใกล้กันได้   มุมศิลปะกับมุมบล็อกอยู่ใกล้กัน  เป็นต้น
 มุมที่จัดให้เด็กได้เล่นมีดังต่อไปนี้
                1.  มุมบ้าน มุมร้านค้า มุมวัด มุมหมอ มุมเกษตรกร ฯลฯ
                     จัดเพื่อให้เด็กได้เล่นในสิ่งที่ตนชอบ เรียนรู้บทบาทหน้าที่ของบุคคลต่างๆ ในครอบครัว สังคม  สิ่งที่      จะได้ควบคู่กันมา  คือ  การใช้ภาษา   การปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน  การพัฒนาทางอารมณ์  สังคม  และสติปัญญา
                สื่ออุปกรณ์ที่จัดในมุมนี้  ได้แก่  เครื่องครัว เครื่องใช้ในบ้าน  เช่น  เสื่อ หมอน กระจก ตุ๊กตา เสื้อผ้าตุ๊กตา  เครื่องแบบของคนอาชีพต่างๆ  เช่น หมอ ตำรวจ ทหาร เครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ  เช่น  กระบุง ตะกร้า ไม้คาน เครื่องมือจับปลา รองเท้า และเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้ว สำหรับเด็กแสดงบทบาทสมมติ  อุปกรณ์เหล่านี้ควรทำชั้นวางหรือจัดวางไว้ในลังไม้ ลังกระดาษ แยกเป็นหมวดหมู่  ไม่ควรใช้ของที่ทำด้วยแก้ว กระเบื้องหรือพลาสติกที่ใช้เป็นอันตรายกับเด็ก
                2.  มุมหนังสือ
                     แม้จะไม่มีการสอนอ่านเขียน  สำหรับเด็กระดับปฐมวัยแต่การหาภาพสวยๆ  นิทานภาพมาจัดวางไว้ย่อมเป็นสิ่งจูงใจให้แก่เด็กได้มาจับต้องเปิดดู  เป็นการปลูกฝังนิสัยรักการอ่านไปโดยไม่รู้ตัว  สิ่งประกอบสำหรับมุมนี้คือ  เสื่อ หมอน รูปทรงต่างๆ  จะช่วยจูงใจให้เด็กอยากนั่งนอนอ่านในท่วงท่าสบายๆ  ก่อให้เกิดความเพลิดเพลิน  ทั้งที่อ่านไม่ได้แต่ก็จะสนุกสนานเพลิดเพลินกับรูปสวยๆ  เหล่านั้น
               




3.  มุมธรรมชาติศึกษาหรือมุมวิทยาศาสตร์
                     เป็นมุมที่เด็กจะศึกษาหาความรู้ด้วยการสังเกตทดลองด้วยตนเอง  จึงต้องจัดหาอุปกรณ์  เช่น  เครื่องชั่ง ตัวอย่างพืช เปลือกหอย สำลี กระดาษ หินชนิดต่างๆ ฯลฯ  นำมาจัดวางไว้เป็นหมวดหมู่ เพื่อให้เด็กค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
                4.  มุมบล็อก
                     บล็อก  หมายถึง  แท่งไม้หรือวัสดุทดแทนอย่างอื่น  เช่น  กล่องชนิดต่างๆ  บล็อกแต่ละชุดอาจมีแบบและจำนวนแตกต่างกัน  บางชุดมีขนาดเล็ก  มีจำนวนเพียง  20  ชิ้นบางชุดก็มีขนาดใหญ่  จำนวนอาจมากถึงกว่า    ร้อยชิ้น  บล็อกเหล่านี้อาจทำขึ้นเองได้จากเศษไม้นำมาตกแต่งให้เป็นรูปทรง  ข้อควรระวังคือต้องขัดให้เรียบร้อย  ไม่มีเสี้ยนแยกเก็บใส่กล่องหรือลังไว้  ถ้าไม่ต้องการเกิดเสียงรบกวนเวลาเล่นก็หาเสื่อปูรองรับมุมนี้ไว้  พอที่เด็กจะนั่งเล่นได้คราวละ  3-4  คน  และควรให้ห่างจากมุมหนังสือที่ต้องการความสงบเงียบ
                5.  มุมเกมการศึกษา
                     พลาสติกสร้างสรรค์  เครื่องเล่นสัมผัส  ในมุมนี้เป็นมุมที่ฝึกเด็กในเรื่องการรับรู้ทางสายตา  การคิดหาเหตุผล  และการทำงานสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ  ประกอบไปด้วยเกมการศึกษา  พลาสติกสร้างสรรค์  กล่องหยอดบล็อก  ลูกปัด  สำหรับร้อยอาจมีแบบร้อยไว้ให้เด็กด้วย
                6.  มุมเครื่องเล่นสัมผัส
                     มุมนี้เป็นมุมที่ฝึกเด็กในเรื่องการรับรู้ทางสายตา การสังเกต การเปรียบเทียบ การจัดหมวดหมู่ ภาษา การคิดหาเหตุผล ความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานสัมพันธ์ระหว่างตาและมือ ประกอบไปด้วยสื่อ เครื่องเล่นต่างๆ  เช่น  พลาสติกสร้างสรรค์ กล่องหยอดบล็อก ลูกปัดสำหรับร้อย ฯลฯ
                7.  กระบะทราย
                     กระบะทรายในมุมห้องเรียน  จัดไว้เพื่อให้เด็กมีโอกาสตกแต่งกระบะทรายเกี่ยวกับเรื่องที่ใกล้ตัวเด็ก  เช่น  เรื่องบ้านจัดแบ่งเป็นส่วน  ส่วนที่เป็นบ้าน ต้นไม้ รั้ว คน สัตว์เลี้ยง จึงต้องจัดหาอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องไว้  ควรวางกระบะให้อยู่ในระดับที่เด็กจะยืนเล่นได้  และเตรียมอุปกรณ์ไว้ให้  เช่น  ถ้วยตวง ขวด ช้อน ตัวสัตว์

พัฒนาการเด็ก

พัฒนาการเด็ก

วันพฤหัสบดีที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554

บทความการศึกษาปฐมวัยแบบเตรียมความพร้อม

บทความการศึกษาปฐมวัยแบบเตรียมความพร้อม


การจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเตรียมความพร้อม  เป็นลักษณะของการจัดการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยที่ยึดหลักการตอบสนองความต้องการของผู้เรียน  โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทุกด้านของเด็กอย่างเหมาะสมและเต็มตามศักยภาพของแต่ละคน ครูปฐมวัยจึงเป็นบุคคลสำคัญในการพัฒนาเด็ก   และหากมีความเชื่อในการจัดการศึกษาแบบเตรียมความพร้อม  นอกเหนือจากการมีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กตามพัฒนาการแต่ละด้านแล้ว  ต้องนำความรู้ดังกล่าวสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเชื่อในเรื่องของการเตรียมความพร้อม ดังนี้
การส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย
1.  การจัดสภาพแวดล้อมที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัย  ถือได้ว่าเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรกในการส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายของเด็ก  ทั้งนี้เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูในสถานที่สะอาด  มีสุขอนามัยที่ดี  ปราศจากสิ่งรบกวนที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ  มีความปลอดภัยทั้งจากสิ่งที่อันเป็นเหตุให้เกิดความไม่ปลอดภัยทางกาย  และการคุกคามทางจิตใจ
2.  การจัดตารางเวลาในกิจวัตรประจำวันที่เหมาะสมและตอบสนองความต้องการทางกายของเด็กคือ ความต้องการที่เป็นความต้องการพื้นฐานทางกาย  เด็กต้องการเวลาในการรับประทาน  การพักผ่อน  การเข้าห้องน้ำเพื่อขับถ่าย  ต้องการอากาศบริสุทธิ์  แสงแดดอ่อน  และความต้องการในการเคลื่อนไหว  ดังนั้นในแต่ละวันจะต้องจัดช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับให้เด็กได้รับการตอบสนองความต้องการพื้นฐานดังกล่าว   โดยเฉพาะการจัดเวลาที่ได้สัดส่วนกันระหว่าง       กิจกรรมที่ให้ได้เคลื่อนไหวกับกิจกรรมที่สงบ หรือทำงานเงียบ ๆ
3.  การจัดกิจกรรมที่ได้สัดส่วนที่พอเหมาะในส่วนที่เป็นกิจกรรมกลางแจ้งกับกิจกรรมในร่ม  ทั้งนี้เพราะเด็ก ๆ ต้องการการเคลื่อนไหวอย่างอิสระในการใช้กำลังกายในการเล่นและเคลื่อนไหว  การทำกิจกรรมกลางแจ้งไม่ว่าจะเป็นการเล่นเครื่องเล่นสนาม   การเล่นเกม  การเล่นอิสระ  และการทำกิจกรรมอื่น เช่น การทำสวน  การดูแลสัตว์เลี้ยง  การเล่นบ่อทราย  จะเป็น         กิจกรรมที่ทำให้เด็กได้พัฒนาอวัยวะต่าง ๆ     ของร่างกาย  การทำงานประสานสัมพันธ์กันของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ  รวมทั้งการได้รับอากาศบริสุทธิ์และแสงแดด  ขณะเดียวกันการให้เด็กได้ทำ         กิจกรรมในร่ม  เด็กจะได้ทำกิจกรรมที่ลดการใช้กำลังลง  เป็นการทำกิจกรรมที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก   อวัยวะ รับสัมผัสอื่น ๆ  รวมทั้งการทำกิจกรรมที่ใช้ความตั้งใจ  สมาธิ  ซึ่งในกิจกรรมทั้ง 2 ประเภท เด็กควรได้ทำในสัดส่วนที่พอเหมาะ
4.  การให้ได้รับอาหารและน้ำดื่มอย่างเพียงพอ  เนื่องจากเด็กจะใช้เวลาอยู่ในสถานศึกษาทั้งวัน  จึงต้องจัดอาหารให้เด็กตามเวลาที่ร่างกายของเด็กต้องการ  เช่น  อาหารว่างเช้า -  บ่าย  และอาหารกลางวัน  ทั้งนี้อาหารที่จัดให้ควรเน้นอาหารที่มีคุณค่า  สะอาด  และสร้างนิสัยการบริโภคที่ดี  ไม่เลือกอาหาร ลดอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ การจัดอาหารที่มีคุณค่าให้แก่เด็ก  นอกจากจะมุ่งคุณค่าทางด้านภาวะโภชนาการแล้ว  ยังเป็นการสร้างนิสัยการบริโภค   ที่เป็นพื้นฐานของสุขภาพที่ดีในวัยผู้ใหญ่ ขณะเดียวกันต้องให้เด็กได้ดื่มน้ำสะอาดที่เพียงพอ  ทั้งนี้การวิจัยใหม่ ๆ ได้มีข้อค้นพบว่า  นอกจากน้ำจะเป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตแล้ว  การดื่มน้ำสะอาดในปริมาณที่พอเหมาะจะช่วยสนับสนุนการทำงานของเซลสมองให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย
5.  การจัดพื้นที่ในห้องเรียนให้มีความสะดวกต่อการทำกิจกรรมที่เคลื่อนไหวและมีที่ทำงานส่วนตัว  หรือการทำงานตามลำพัง    ทั้งนี้เด็กเล็ก ๆ    จะมีธรรมชาติของการเรียนรู้จากการสืบค้น  ทดลอง  ลองผิดลองถูก  ทำให้เด็ก ๆ มีการเคลื่อนไหวในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สนใจ  ครูจึงต้องออกแบบกิจกรรมให้เด็กได้ใช้อวัยวะรับสัมผัสต่าง ๆ ในการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อม  ซึ่งต้องมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมเหล่านั้น  แต่ขณะเดียวกันเด็กยังต้องการความสงบในการทำงานที่ต้องใช้สมาธิและความตั้งใจที่จะเรียนรู้จากกิจกรรมที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวหรือใช้พื้นที่มากนัก  เช่น การเล่นเกมการศึกษา  การอ่านหนังสือ  การทดลองทำสิ่งต่าง ๆ    หรืองานประดิษฐ์ตามความคิดของตนเอง  ดังนั้นพื้นที่ที่สำหรับให้เด็กทำงานเงียบ  ๆ  จึงต้องจัดไว้ให้ด้วย
6.  การจัดพื้นที่สำหรับการเคลื่อนไหวและการรับประสบการณ์ที่เกี่ยวกับดนตรี  เพลง  และจังหวะ  เด็กปฐมวัยกับเสียงเพลงเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ได้  จะสังเกตเห็นว่าแม้เด็กเล็ก ๆ ถ้าได้ยินเสียงเพลงหรือเสียงดนตรีที่สนุกสนาน   เด็กจะรับรู้และแสดงออกด้วยการทำกิริยาท่าทางไปตามเสียงเพลงที่ได้ยิน   ดังนั้นในชั้นเรียนระดับปฐมวัย นอกเหนือจากการจัดมุมดนตรี  แล้วต้องจัดให้มีพื้นที่ให้เด็กได้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ  เพื่อการเต้น  การร่ายรำ  การแสดงท่าทาง  และการแสดงออกทางดนตรี   เพลงนาฏศิลป์  และลีลาท่าทาง
7.  การรับรู้และดูแลช่วยเหลือเมื่อเด็กเจ็บป่วย  หรือเหน็ดเหนื่อยจากการทำกิจกรรม  โดยธรรมชาติแล้วเด็ก ๆ จะเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาเพื่อทำกิจกรรมที่สนใจ  แต่ครูต้องคอยสังเกตเมื่อเด็กมีความอ่อนล้าจากการทำกิจกรรมที่ออกแรงมากเกินไป   ถ้ารู้สึกว่าเด็กเหน็ดเหนื่อยหรืออ่อนล้า  ควรให้เด็กหยุดพักหรือทำกิจกรรมเงียบ ๆ ผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิตใจ  และขณะเดียวกันหากสังเกตเห็นเด็กมีอาการที่แสดงว่าไม่สบายหรือเจ็บป่วย  ครูต้องไวที่จะเข้าไปช่วยเหลือดูแลทันที
การส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกายของเด็กจึงให้ความสำคัญต่อการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ตอบสนองธรรมชาติด้านการเคลื่อนไหว  ความต้องการทางกาย  การดูแลสุขอนามัย  การฝึกฝนสุขนิสัยและภาวะโภชนาการ  รวมทั้งการดูแลตอบสนองทางจิตภาพของเด็กด้วย  เพราะจิตใจที่มีความสุขย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายที่แข็งแรง  และมีผลต่อความสามารถในการเรียนรู้อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษา
การส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม
1.  ให้เด็กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแสดงพฤติกรรมของเด็กที่ทำให้เด็กอยู่ร่วมกับคนอื่นได้  ทั้งนี้เนื่องจากเด็กปฐมวัยจะมีธรรมชาติของการยึดตนเองเป็นศูนย์กลางทั้งการคิดและการกระทำอันเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสังคมกับผู้อื่น  การให้เด็กแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่นยอมรับ  ชื่นชอบ  และยินดีที่จะทำกิจกรรมร่วมด้วย  จะทำให้เด็กเข้าใจถึงวิธีปรับตัวและแสดงพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับทางสังคม
2.  การสนทนาพูดคุยกับเด็กเกี่ยวกับพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ  นอกเหนือจากการให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพฤติกรรมทางบวกแล้ว  การพูดคุยกับเด็กถึงพฤติกรรมสังคมในทางลบ  ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบให้เด็ก ๆ เห็นว่ามีพฤติกรรมใดบ้างที่เด็กแสดงแล้วเพื่อน ๆ ไม่ชอบ    หรือ   ผู้อื่นบอกว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี  รวมทั้งความรู้สึกของเด็กถ้ามีผู้แสดงพฤติกรรมทางลบเด็ก ๆ  จะรู้สึกอย่างไร
3.  จัดทำแผนภาพหรือรูปแบบพฤติกรรมทางสังคมที่ดีกับพฤติกรรมทางสังคมที่ไม่ดีที่ได้แสดงความคิดเห็นไว้  ให้เด็ก ๆ  ได้เห็นโดยแสดงเป็นภาพหรือสัญลักษณ์ที่เด็กเข้าใจได้  ติดแสดงไว้เพื่อเป็นสิ่งเตือนใจ  หรือจัดทำเป็นข้อตกลงของห้องเรียน
4.  จัดประสบการณ์ให้เด็กได้เข้าใจทรรศนะหรือมุมมองของคนอื่น   การที่รับรู้ถึงความรู้สึก  ความคิดเห็นของผู้อื่น  รวมทั้งการเข้าใจพฤติกรรมที่แสดงออกของผู้อื่นที่เด็กปฏิสัมพันธ์ด้วย  จะช่วยพัฒนาการสร้างสัมพันธภาพของเด็กกับสังคม  การเข้าใจมุมมองของคนอื่น  และยอมรับความเห็นที่ต่างออกไป  จะเป็นการฝึกฝนให้เด็กได้รู้จักการคิดเชิงเหตุผล  ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความสามารถทางสติปัญญาของเด็กให้เติบโตไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาด้านสังคม
5.  เมื่อเด็กใช้เวลาปรับตัวกับการปฏิบัติตนตามกติกา ข้อตกลง กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในชั้นเรียนในการอยู่ร่วมกันได้แล้ว  และสังเกตเห็นว่าเด็กมีประสบการณ์มากพอในการเล่นและทำงานร่วมกับผู้อื่น  ครูควรลองให้โอกาสให้เด็กได้ฝึกฝนการแก้ปัญหาในการสร้างสัมพันธภาพและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยตนเองเสียก่อน  และหากว่ายังดำเนินการไปไม่ได้อย่างดีครูจึงตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือ
6.  การจัดประสบการณ์ให้เด็กได้เล่นหรือทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ จะทำให้เด็กได้ฝึกฝนการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น  เรียนรู้ถึงพฤติกรรมที่ทำเป็นที่ยอมรับหรือไม่ยอมรับจากผู้อื่น  รวมทั้งได้ฝึกการรับรู้ความคิด  มุมมองของผู้อื่นด้วย  การจัดกิจกรรมกลุ่มเล็ก ๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการจัดกิจกรรมในชั้นเรียน
7.  การเข้าไปร่วมทำกิจกรรมต่าง ๆ กับเด็ก  และคอยสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้น  ทั้งนี้หลักการหนึ่งของวิธีการจัดประสบการณ์ระดับการศึกษาปฐมวัย คือการเรียนรู้ร่วมกัน  การจัดกิจกรรมแล้วครูลงไปร่วมทำกิจกรรมด้วย  จะทำให้มีโอกาสสังเกตพฤติกรรมของเด็ก ๆ ได้อย่างใกล้ชิดและได้เห็นลักษณะการสร้างสัมพันธภาพระหว่างกันของเด็ก
8.  การให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมทางสังคม  หรือการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น  การช่วยเหลือมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เด็กสามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้  รวมทั้งการเข้าไปแทรกแซงเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น  เช่นกรณีเด็กทะเลาะหรือต่อสู้กัน  การเข้าไปแทรกแซงของครู  เช่น   การหันเหความสนใจเด็กไปสู่กิจกรรมอื่น   จะทำให้เด็กหยุดการทะเลาะกัน  หรือผ่อนคลายความตึงเครียดลง
การส่งเสริมพัฒนาการทางสังคมของเด็กจึงเป็นการให้เด็กได้ทำงานเป็นกลุ่ม   เพื่อฝึกฝนการรับรู้ความรู้สึก ความคิดเห็นของผู้อื่นและเข้าใจถึงพฤติกรรมที่เป็นที่ยอมรับกับพฤติกรรมที่สังคมไม่ยอมรับ  อันจะเป็นหนทางที่นำเด็กไปสู่การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขในอนาคต
การส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์
1.  การเข้าใจถึงสภาพทางอารมณ์ของเด็กและยอมรับว่าเป็นลักษณะของพัฒนาการทางอารมณ์ตามปกติของเด็ก  ซึ่งได้แก่อารมณ์รัก  โกรธ  กลัว  ดีใจ  เสียใจ  อิจฉา  เครียด   วิตกกังวลและคับข้องใจ  และต้องเข้าใจว่าอารมณ์ของเด็กเกิดจากสถานการณ์ที่มากระทบหรือแวดล้อมตัวเด็ก      ดังนั้นจำเป็นที่ครูจะต้องจัดสถานการณ์ที่สนับสนุนอารมณ์ทางบวกและพยายามลดสิ่งที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ส่งผลต่ออารมณ์ทางลบหรือที่ไม่พึงประสงค์
2.  ครูต้องเข้าใจและรับรู้ถึงการแสดงออกทางอารมณ์ของเด็กบางคนที่อาจจะแตกต่างไปจากเด็กคนอื่น   เนื่องจากเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน  รวมทั้งประสบการณ์ที่เด็กได้รับมาย่อมแตกต่างกัน การรับรู้ถึงพฤติกรรมทางอารมณ์ที่ต่างไปจากคนอื่น จะทำให้นำไปสู่การช่วยเหลือและแก้ไขได้อย่างทันท่วงทีและเหมาะสม  หากพฤติกรรมนั้นแสดงถึงแนวโน้มที่อาจจะเป็นปัญหา
3.  การสอนให้เด็กรับรู้และเข้าใจถึงอารมณ์  ความรู้สึกและพฤติกรรมของคนปกติทั่วไปที่มีอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน  และเข้าใจถึงลักษณะการแสดงออกทางอารมณ์ที่ต่างไปจากปกติ  หรือสภาพความผิดปกติทางอารมณ์  การเข้าใจถึงอารมณ์ที่ปกติกับผิดปกติ  จะทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น  และดูแลตัวเองในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้
4.  สอนให้รู้จักคำศัพท์ที่แสดงถึงสภาวะทางอารมณ์ต่าง ๆ ที่ตรงกับความจริง  เช่น  โกรธกับกลัว  เกลียดกับโกรธ  เป็นต้น
5.  ฝึกฝนให้เด็กได้เข้าใจถึงการแสดงออกทางอารมณ์ที่ผู้อื่นไม่ชอบ  หรือไม่ยอมรับ
6.  การพูดคุยกับเด็กถึงการแสดงพฤติกรรมทางอารมณ์ที่ไม่เหมาะสม  ซึ่งคนอื่นไม่ชอบ  หากเด็กมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจะทำให้ได้การยอมรับจากคนอื่น
7.  สนทนาพูดคุยให้เด็กเข้าใจถึงความรู้สึกของคนอื่น ๆ ที่มีต่อการแสดงพฤติกรรมทางอารมณ์ทั้งในทางบวกและทางลบ  ซึ่งจะเป็นการช่วยให้เด็กเข้าใจถึงการใช้ชีวิตในสังคม
8.  ครูต้องไวต่อการรับรู้ถึงอารมณ์ที่เป็นสภาพปัญหาของเด็กและเข้าไปช่วยเหลืออย่างเหมาะสม
ดังนั้นการส่งเสริมพัฒนาการทางอารมณ์ของเด็กปฐมวัยจึงเกี่ยวข้องกับการสอนให้เด็กเข้าใจถึงอารมณ์ ความรู้สึกทั้งของตนเองและผู้อื่น  การแสดงออกทางอารมณ์อย่างเหมาะสมต่อสถานการณ์ต่าง ๆ และการรับรู้  ตลอดจนการช่วยเหลือเด็กที่ปัญหาทางอารมณ์  เพื่อให้เด็กสามารถปรับพฤติกรรมการแสดงออกทางอารมณ์ให้เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น  อันจะช่วยให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

การส่งเริมพัฒนาการทางสติปัญญา
1.  การยอมรับและเข้าใจว่าเด็กทุกคนมีความสามารถที่จะเรียนรู้  และมีวิธีการเรียนรู้เป็นของตนเอง  ทั้งนี้เด็ก ๆ จะเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัส  การได้รับประสบการณ์ตรงจะทำให้เด็กเข้าใจถึงสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว  และนำข้อมูลไปสู่การปรับขยายความรู้ในโครงสร้างทางสติปัญญาเดิม   ทำให้เกิดความรู้ใหม่  พร้อมที่จะขยายประสบการณ์ให้กว้างขวางต่อไป  กระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวนี้เด็กแต่ละคนจะมีวิธีการของตนเอง  ดังนั้นนอกจากครูจะเข้าใจถึงลักษณะวิธีการเรียนรู้ของเด็กแล้วจะต้องยอมรับความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กว่า  มีความสามารถที่แตกต่างกัน  การจัดประสบการณ์ให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จึงต้องให้เวลาที่พอเพียงกับเด็กแต่ละคน  มีกิจกรรมที่หลากหลายตามความสนใจและพอเหมาะกับประสบการณ์เดิมและความสามารถของเด็กและให้อิสระแก่เด็กที่จะใช้วิธีการที่เหมาะกับตัวเขา
2.  การเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ร่วมกับเด็กไปพร้อม ๆ กัน  ทั้งนี้ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ระบุถึงการจัดการเรียนรู้ว่าให้จัดการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  ครูและเด็กเรียนรู้จากการทำกิจกรรมร่วมกัน  ในระหว่างการทำกิจกรรมครูจะสังเกตพฤติกรรมที่แสดงถึงพัฒนาการในทุกด้านของเด็ก  รวมทั้งเป็นโอกาสที่จะให้ความรู้และเรียนรู้ในเรื่องที่เด็กปฏิบัติ   เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน  ทำให้ทราบถึงความรู้ของเด็กที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมนั้น ๆ และสามารถนำไปสู่การกระตุ้นให้เด็กได้ขยายประสบการณ์ให้กว้างขวางออกไปด้วยแนวคิดของตนเอง
3.  การวางแผนกิจกรรมที่จะให้เด็กเข้าใจสิ่งต่างโดยรอบ  รวมทั้งการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ  ที่กว้างขวางกว่าเดิม    ทั้งนี้ครูสามารถวางแผนกิจกรรมที่สนับสนุนให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนเอง  สิ่งต่าง ๆ รอบตัว  และธรรมชาติรอบตัว  ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพื่อเข้าใจธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้น  หลังจากการเรียนรู้สาระความรู้แล้ว  การที่ครูเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับเด็กมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  เป็นสิ่งที่ทำให้ครูเข้าใจถึงประสบการณ์และมโนภาพของเด็ก  จากนั้นครูจึงนำความเข้าใจเหล่านี้ไปสู่การวางแผนกิจกรรมเพื่อขยายประสบการณ์ของเด็กให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  ทั้งด้านความรู้  และด้านความสัมพันธ์ระหว่างตัวเด็กกับความรู้
4.  การเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเรื่องที่จะเรียนรู้ตามความสนใจของตนเอง  ทั้งนี้การให้เด็กได้เลือกเรื่องที่จะเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจ  จะส่งผลต่อประสิทธิผลของการเรียนรู้  เนื่องจากการที่ได้เรียนในสิ่งที่ต้องการทำให้เด็กเกิดแรงจูงใจภายในในการเรียนรรู้สิ่งนั้น ๆ ทำให้การเรียนเป็นไปอย่างมีความสุข  ผู้เรียนมีความพึงพอใจที่ได้เรียน  และจะเชื่อมโยงไปสู่ความรักในการเรียนรู้  มีเจตคติที่ดีต่อการเรียน
5.  ให้เด็กทำกิจกรรมโดยการฝึกให้มีการวางแผนจัดทำเป็นโครงการของตนเอง  โดยมีครูเป็นผู้ช่วย  จากการทำโครงการ  เด็กจะเรียนรู้เรื่องการวางแผน  การจัดลำดับขั้นของการทำงาน  การสืบค้นข้อมูล  การลงมือปฏิบัติตามแผน  การสรุปผลการทำงานและผลที่ได้รับ
6.  การจัดกิจกรรมให้เด็กได้เรียนรู้จากการฝึกทักษะที่ส่งเสริมสติปัญญาของเด็ก  เช่น การสังเกต  การแก้ปัญหา  การสืบค้น  การเสาะหาความรู้
7.  การประเมินผลการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์ของหลักสูตรและรายงานผลการเรียนรู้ให้ผู้ปกครองทราบ
การส่งเสริมพัฒนาการทางสติปัญญา  จึงเป็นการจัดกิจกรรมที่ให้เด็กได้ฝึกฝนการเสาะหา  แสวงหา  สืบค้น  ความรู้ที่ตนสนใจ  ด้วยวิธีการที่หลากหลาย  และนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง  ทั้งนี้ผลจากการจัดกิจกรรมที่ให้เด็กปฏิบัติเพื่อสร้างความรู้ด้วยตนเองนั้น  นอกจากจะเกิดผลต่อการเรียนรู้ในสิ่งนั้น ๆ แล้ว  ยังเป็นการสร้างพื้นฐานการเป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้กับเด็กอีกทางหนึ่งด้วย

การส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
นอกเหนือจากการจัดประสบการณ์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้ง 4 ด้านดังกล่าวแล้ว  การจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเตรียมความพร้อม  ยังสนับสนุนเรื่องการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็กด้วย  โดยมีแนวทางการจัดประสบการณ์ดังนี้
1.  การจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลายเพื่อให้เด็ได้แสดงซึ่งความคิดและจินตนาการที่เด็กแต่ละคนมี
2.  ให้อิสระแก่เด็กในการแสดงซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ  ทั้งการคิด  การกระทำ  ผลงาน
3.  จัดให้มีเวทีที่แสดงถึงผลแห่งการสร้างสรรค์ของเด็ก  เช่นที่แสดงผลงาน  เวทีการแสดง  มุมจัดแสดง  หรือป้ายแสดงผลงาน
4.  สนับสนุนการแสดงออกซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในหลาย ๆ รูปแบบ  เช่น      การทำกิจกรรมศิลปะ  การร้องเพลง  การแสดง  การเต้น  การฟ้อนรำ  และด้านภาษา
5.  สนับสนุน  ชมเชย  ยกย่อง  ผลงานที่แสดงถึงความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก  รวมทั้งการแสดงพฤติกรรมถึงการแก้ปัญหา  หรือการกระทำที่สร้างสรรค์ที่แตกต่างไปจากการคิด/การกระทำของผู้อื่น
6.  เข้าใจและยอมรับถึงภูมิหลังหรือประสบการณ์เดิมของเด็กที่แตกต่างกัน  อันมีผลให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กต่างกันออกไป  รวมทั้งการยอมรับการแสดงออกของเด็กที่ต่างไปจากวิธีเดิม ๆ
7.  สนับสนุนและจูงใจให้เด็กที่ขี้อาย  หรือไม่กล้าแสดงออกให้ได้แสดงออกถึงการคิด  การสร้างสรรค์  ให้กำลังใจ  และชื่นชมกับสิ่งที่เด็กแสดงออกมาอย่างจริงใจและตรงกับความเป็นจริง
8.  มีความสุขกับการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ของเด็กแต่ละคน  ซึ่งแสดงถึงบุคลิกภาพของเด็กด้วย
การจัดการศึกษาปฐมวัยแบบเตรียมความพร้อมจึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก  รวมทั้งการคิดสร้างสรรค์  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานชีวิตของเด็กที่จะเติบโตขึ้นไปอย่างมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์  อันมีความหมายมากกว่าการจัดให้เด็กเรียนโดยเน้นเฉพาะสาระความรู้  ซึ่งอาจจะไม่มีความหมายใด ๆ กับเด็กเลยก็เป็นได้  และการที่ให้เด็กเรียนในสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับวัย  พัฒนาการของเด็ก  นอกจากจะไม่เกิดผลดีใด ๆ แล้วยังอาจเกิดผลเสียติดตามมาอีกด้วย เช่น ความเครียดที่ถูกบังคับให้เรียน  ความเฉื่อยชาที่มีต่อการเรียน  และจิตใจที่ต่อต้านต่อการเรียนในวัยต่อ ๆ มา    ดังนั้นในวงการศึกษาปฐมวัยจึงให้ความสำคัญต่อการจัดการศึกษาแบบเตรียมความพร้อม    ที่ให้เด็กได้รับการพัฒนาทุก ๆ  ด้านไปพร้อม ๆ   กันอย่างต่อเนื่อง      อันจะส่งผลต่อพัฒนาการ  บุคลิกภาพ  และความเป็นผู้รักที่จะเรียนรู้  และก้าวไปสู่การเป็นบุคคลในสังคมแห่งการเรียนรู้ในที่สุด

เอกสารอ้างอิง
วัฒนา  ปุญญฤทธิ์. (2536).  การเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย.  กรุงเทพฯ : สถาบันราชภัฏ
พระนคร.
.  (2542).  การจัดสภาพแวดล้อมในสถานพัฒนาเด็กประฐมวัย.  กรุงเทพฯ : สถาบัน
ราชภัฏพระนคร.
Essa, E. (1992).  Introduction to Early Childhool Edcucation. New York : Delmar.
Walsh, H.M. (1980). Introducing the  Young Child to the Social World. New York :
Macmillan.