วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2553

สนุกรู้...5 สัมผัส จากของกิน

โดย: กมลชนก

หัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของเจ้าหนู



สัมผัสทั้ง 5 กลไกในการเรียนรู้ที่มีติดตัวเจ้าหนูมาตั้งแต่เกิด เป็นสิ่งที่ช่วยเติมเต็มความอยากรู้อยากเห็นของลูกที่มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม
โดยผ่านการชิม ดม สัมผัส มองเห็น และได้ยิน

นี่คือหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ของเจ้าหนูอ.1 ทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน

ทำไมต้อง 5 สัมผัส


น้องเล็กวัยนี้เขาสามารถเชื่อมโยงจากสิ่งที่ได้เห็น ได้ยิน สัมผัส หรือดมกลิ่น แล้วแปลเป็นการรับรู้ได้ค่ะ เช่น เวลาเจ้าหนูได้กลิ่นหอมโชยมาจากห้องครัวเมื่อไร ก็จะวิ่งตรงมาที่โต๊ะอาหารทันที เพราะเขารับรู้ว่าถ้าได้กลิ่นแบบนี้ แสดงว่าคุณแม่กำลังทำของอร่อยๆ มาให้

สิ่งนี้เรียกว่าประสบการณ์ ซึ่งเกิดจากการเชื่อมโยงกันทั้งภาพ เสียง กลิ่น สัมผัส ออกมาในรูปแบบของการรับรู้ค่ะ ทำให้เขาสามารถเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว มากกว่าคำพูดหรือการบอกกล่าวของคุณแม่

สัมผัสที่ 1 ชิมรส : ด้วยความอยากรู้อยากเห็นอยากลอง น้องเล็กวัยนี้จึงโปรดปรานการชิมอาหารเป็นทุนเดิม ที่สำคัญเขาสามารถกินอาหารที่หลากหลายได้มากขึ้นแล้ว ลองให้เขาชิมอาหารที่มีหลายๆ รสชาติ เปรี้ยว เค็ม หวาน หรืออาหารหลายๆ แบบ เช่น ผลไม้นิ่มๆ กรอบ เป็นการช่วยกระตุ้นประสาทรับรสของเขาและฝึกการเคี้ยว

Tip ชวนลูกสนุกกับการกินด้วยการ เช่น ?ลูกลองชิมดูสิค่ะว่าในข้าวผัดจานนี้ คุณแม่ใส่ส่วนประกอบอะไรบ้าง? เป็นการฝึกให้เขารู้จักแยกแยะด้วยการให้ทายส่วนผสมของอาหาร

สัมผัส ที่ 2 ตาดู : เป็นทักษะที่เขาใช้บ่อยที่สุดค่ะ อาจชี้ชวนให้เขาสำรวจวัตถุดิบในตู้เย็น สังเกตลักษณะของผักผลไม้ชนิดต่างๆ ทั้งสี ลักษณะใบ และฝึกให้เขาได้ลองเปรียบเทียบความเหมือนหรือความต่างของผักแต่ละชนิด พร้อมสอดแทรกเรื่องราวน่ารู้ เช่น ?ที่ใบผักคะน้ามีรู เพราะว่ามันโดนหนอนกิน แสดงว่าคะน้าต้นนี้ไม่มียาฆ่าแมลงค่ะ?

Tip ชวนหนูสนุกกับการเรียนรู้เรื่องรูปทรงเรขาคณิตจากผักผลไม้ เช่น ทรงกลมจากแตงโม พอแบ่งครึ่งแล้วกลายเป็นครึ่งวงกลม พอแบ่งครึ่งอีกทีกลายเป็นทรงปิรามิด

สัมผัส ที่ 3 หูฟังเสียง : การฟังเป็นทักษะที่ช่วยให้เจ้าหนูมีพัฒนาการทางภาษาที่ดี และสามารถแยกแยะเสียงต่างๆ ได้ดีเมื่อได้ยินเสียงนั้นบ่อยๆ ค่ะ เช่น เสียงคุณแม่บอกชื่อผักชนิดต่างๆ เสียงสับหมู เสียงตำน้ำพริก สิ่งสำคัญคือต้องให้เขาได้เห็นต้นตอเสียงนั้นด้วยว่าคืออะไร การได้ยินซ้ำๆ จะทำให้เขารับรู้และจดจำได้ค่ะ

Tip สนุกกับการฟังและเสียงที่หลากหลาย เช่น นำวัสดุต่างๆ มาเขย่าในขวดพลาสติก แล้วให้เจ้าหนูลองทาย เช่น น้ำ เมล็ดถั่ว เกลือ

สัมผัส ที่ 4 กายสัมผัส : เป็นทักษะที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเจ้าหนูได้มากเลยค่ะ การเปิดโอกาสให้เขาได้ใช้มือหรือส่วนต่างๆ สัมผัสกับพื้นผิวต่างๆ ของอาหาร เช่น เส้นสปาเก็ตตี้ก่อนต้ม และหลังต้มแตกต่างกันอย่างไร เยลลี่ หรือพื้นผิวของผักผลไม้ต่างๆ

Tip ให้หนูช่วยเป็นลูกมือในครัว คอยหยิบวัตถุดิบส่งให้คุณแม่ ให้เขาได้สัมผัสถึงรูปทรง ลักษณะพื้นผิว แถมยังได้ฝึกเป็นตาชั่งด้วยสองมือของหนูเองอีกด้วย

สัมผัส ที่ 5 ดมกลิ่น : สัมผัสสุดท้ายที่ถูกละเลยมากที่สุดค่ะ คุณสามารถช่วยกระตุ้นทักษะนี้ได้โดยให้เขาดมกลิ่นอาหารต่างๆ ที่ไม่ฉุนเกินไป เช่น กลิ่นหอมคุกกี้ในเตาอบ กลิ่นกาแฟของคุณพ่อ กลิ่นใบเตย จะช่วยให้เขาจดจำและสามารถแยกแยะกลิ่นต่างๆ ได้มากขึ้น

Tip ไม่ต้องถึงขนาดว่าจะต้องให้เขาจดจำกลิ่นทุกอย่างได้หมดนะคะ ค่อยเป็นค่อยไปดีที่สุดค่ะ

ทีนี้ก็อยู่ที่คุณแล้วล่ะค่ะว่าจะสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้เจ้าหนูได้มากน้อยแค่ไหน เพราะสิ่งสำคัญนั้นอยู่ที่การส่งเสริมและกำลังใจที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่ด้วยค่ะ



จาก: นิตยสาร Kids & School

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

เลือกนมผงสำหรับเด็กอย่างไรดี

1. นมผงสำหรับทารก ที่แบ่งตามช่วงอายุต่างๆ มีข้อแตกต่างกันอย่างไร เราจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์วัด ในการเลือกนมให้บุตรตามช่วงอายุดังนี้
- แรกเกิด ถึง 1 ปี
- 6 เดือน ถึง 3 ปี
- 1 ปี ถึง 3 ปี
2. ดิฉันมีลูกอายุ 1 ปี 2 เดือน ให้ดื่มนมพาสเจอร์ไรซ์ในตอนกลางวัน (แบบแช่เย็น) แทนนมผงจะเป็นอย่างไรไหมคะ
3. การดื่มนมสดเป็นกล่องหรือเป็นขวดจะแตกต่างจากการกินนมผงหรือไม่คะ
4. ในนมผงหลายยี่ห้อแจ้งว่ามีการเติมแร่ธาตุชนิดต่างๆมากมาย จะมีประโยชน์กว่านมสดจริงหรือ
5. เด็กวัยขนาดนี้ ควรจะดื่มนมวันละกี่ออนซ์คะ
ขอความกรุณาช่วยตอบด้วยนะคะ

อาจารย์ประไพศรี ศิริจักรวาล : ผู้ตอบ 1. นมผงสำหรับทารกและเด็กที่แบ่งเป็นช่วงๆนั้น ความแตกต่างอยู่ที่ส่วนประกอบของนมชนิดต่างๆ การเลือกชนิดที่ถูกต้องจะทำให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วนเพียงพอ เติบโตดี ลดปัญหาท้องเดินและแพ้นม โดยทั่วๆไป นมสำหรับทารกและเด็กแบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่
1. นมผงดัดแปลงสำหรับทารก เป็นนมที่ดัดแปลงสารอาหารให้ใกล้เคียงนมแม่มากที่สุด โดยมีโปรตีนระหว่าง 1.5 ถึง 1.8 กรัม ต่อนม 100 มิลลิลิตร ปรับอัตราส่วนเคซีนเวย์ และปรับปริมาณแคลเซียมและฟอสฟอรัสให้ลดลง อาจมีการเติมกรดอะมิโนทอรีน และธาตุเหล็ก ใช้ได้กับทารกแรกเกิดถึงประมาณ 6 เดือน
2. นมสูตรต่อเนื่องใช้สำหรับ ทารกอายุ 5 ถึง 6 เดือนขึ้นไป จนอายุ 1 ถึง 3 ปี ปริมาณโปรตีนอยู่ระหว่าง 2.5 ถึง 3.3 กรัม ต่อนม 100 มิลลิลิตร มีการปรับไขมันโดยใช้น้ำมันพืชแทน และมักจะมีการเติมวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ลงไปด้วย
3. นมผงครบส่วน เป็นนมสดที่ระเหยน้ำออกจนเป็นผง เมื่อเติมน้ำตามสัดส่วน จะได้โปรตีน 3.3 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร มีการเติมวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ส่วนใหญ่ราคาจะแพงกว่าชนิดที่ไม่มีการ เติมสารอาหาร นมผงครบส่วนนี้เด็ก ควรได้รับเมื่ออายุครบ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งเด็กได้รับอาหารครบ 5 หมู่ อยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้นมผงครบส่วนเติมสารอาหาร
2. ลูกอายุ 1 ปี 2 เดือน ดื่มนมพร้อมดื่มได้แล้วทุกมื้อ
3. นมกล่อง (นมยูเอชที) หรือขวด (นมพาสเจอร์ไรซ์) ไม่แตกต่าง กันในแง่คุณค่าทางโภชนาการ แต่การเก็บรักษาจะต่างกัน กล่าวคือ
- นมพาสเจอร์ไรซ์ต้องเก็บในตู้เย็น และระยะเวลาเก็บสั้นเพียง 3-7 วัน
- นมยูเอชทีเก็บได้นาน 6 เดือนในอุณหภูมิปกติ ไม่ต้องแช่ตู้เย็น
- นมผงเก็บได้นานกว่า อาจได้ถึง 1 ปี ถ้าดูแลการเก็บดีๆ
4. นมผงหลายยี่ห้อแจ้งว่ามีการเติมแร่ธาตุชนิดต่างๆ มากมายซึ่งอาจมีประโยชน์ในกรณีที่ผู้บริโภคนั้นขาดสารอาหารที่มีการเติมลงไปแต่ในภาวะปกติ ถ้ากินอาหารครบ 5 หมู่ และได้ปริมาณเพียงพอ ก็ไม่มีความจำเป็น ทั้งนี้ต้องดูภาวะโภชนาการของแต่ละคน
5. เด็ก 1 ปี 2 เดือน ควรดื่มนมวันละประมาณ 2 ถึง 3 แก้ว หรือประมาณ 20 ออนซ์

วันเสาร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ของเล่นเสริมไอคิวเด็ก

ของเล่นพัฒนาไอคิวเด็ก
เรื่อง : อาทิตย์ บุญรอด

ประเทศ ไทยจัดอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา เช่นเดียวกับประเทศในแถบอาเซียนด้วยกันอย่างประเทศเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย การที่แต่ละประเทศจะพัฒนาประเทศของตนเองให้สามารถแข่งขันกับประเทศมหาอำนาจ ไม่ให้เสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจ การค้านั้น ตัวชี้วัดที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ พัฒนาการทางด้านสมองของเด็ก หรือที่เรียกว่า ไอคิว

ไอคิวคือหน่วยที่ ใช้วัดความฉลาดทางปัญญา ความคิด การคำนวณ การใช้เหตุผล การวัดนี้ไม่ใช้ความจำ เพราะคนที่จำเก่งๆ อาจจะไม่ใช่คนที่ฉลาดก็ได้ ระดับของไอคิวมีดังนี้


- ไอคิว 130 ขึ้นไป ถือว่าฉลาดมาก
- 120 - 129 ฉลาดกว่าปกติ
- 110 - 119 ฉลาด
- 90 - 109 ปกติ
- 80 - 89 ด้อยปัญญา
- 70 - 79 คาบเส้น
- ต่ำกว่า 70 ปัญญาอ่อน

เด็ก แรกเกิด จนถึงช่วงวัย 14 – 15 ปี ถือเป็นช่วงวัยแห่งการเรียนรู้ เด็กจะอยากรู้ อยากเห็น และอยากทำในสิ่งที่ชอบเท่านั้น ของเล่นคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ สำหรับช่วงวัยเด็ก ของเล่นที่มีขายอยู่ตามท้องตลาดส่วนใหญ่จัดอยู่ในกลุ่มของ “ของเล่นหลอกเด็ก” ไม่ช่วยในการพัฒนาสมองเด็กสักเท่าไร ยกตัวอย่าง เช่น ของเล่นที่แถมมาจากการซื้อขนม โดยจะมีให้เลือกสะสมหลายแบบ ทำให้เด็กติด และต้องซื้อเป็นประจำ เพราะไม่ต้องการให้น้อยหน้าเพื่อน ปัจจุบันได้มีการผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่สามารถช่วยเพิ่มพูนทักษะการเรียน รู้ และความคิดให้กับเด็กไปพร้อมกับความเพลิดเพลิน ทั้งฝึกให้เด็กได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ฝึกการทำงานร่วมกันระหว่างมือและสายตา รวมไปถึง ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว อีกทางหนึ่งด้วย


การพัฒนาไอคิวเด็กต้องพัฒนาตามศักยภาพของตัวเด็ก ไม่ใช่ตามใจพ่อแม่ เด็กบางคนมี
สติปัญญาดี สามารถเรียนรู้อะไรได้ดี พ่อแม่จะส่งเสริมไปที่วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาต่างๆ เพราะเห็นว่าเป็นภาษาหลักที่สำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีแต่ไม่ทั้งหมด การปล่อยให้เด็กได้ทำในสิ่งที่เขาชอบนอกเหนือจากการเรียน ถือเป็นเรื่องที่ดีและช่วยให้เด็กได้พัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวได้ เช่น การเขียนเรียงความ แต่งกลอน วาดรูป ระบายสี ประดิษฐ์สิ่งของต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เด็กเกิดจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อได้รับการสนับสนุนจากพ่อแม่ เด็กจะมีความมั่นใจในสิ่งที่ทำ นอกจากนี้ การฟังดนตรีคลาสสิก การได้ฟังเพลงที่ร้องโดยพ่อแม่ จะช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของเด็กแรกเกิดได้ดี และที่มีประโยชน์อย่างมากอีกรูปแบบหนึ่ง คือการเล่นของเล่นประเภทจิ๊กซอว์ ต่อภาพ โยนห่วง จะมีผลต่อการงอกงามของเซลล์ประสาทได้ดีมาก โดยเฉพาะในเด็กแรกเกิด ถึง 3 ขวบ

เรียงความเรื่องแม่