ผลกระทบของโทรทัศน์ต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการในเด็ก |
08 ก.พ. 2007 01:09น. | |
ผลกระทบของโทรทัศน์ต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการในเด็ก สื่อโทรทัศน์ให้ทั้งสาระและความบันเทิง เป็นแหล่งของข้อมูลทางวิชาการ ข่าวสาร กีฬา วัฒนธรรม ให้แก่เด็ก ในขณะเดียวกันข้อมูลหลากหลายหากไม่ได้คัดกรองให้เหมาะสมก็อาจส่งผลในทางลบแก่เด็กได้ ผลกระทบจะมากน้อยเพียงไรขึ้นกับเนื้อหาของรายการ รูปแบบวิธีการนำเสนอ และระยะเวลาที่เด็กดูโทรทัศน์ ข้อมูลจากสหรัฐอเมริกาพบว่าเด็กดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ 3 ชม. และหากรวมวีดีโอเทปและวีดีโอเกม เด็กจะใช้เวลาอยู่หน้าจอวันละประมาณ 6.5 ชม. การมีโทรทัศน์ในห้องนอนจะทำให้เด็กดูรายการต่างๆ มากขึ้น จึงเป็นที่สงสัยเสมอว่าการดูโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะมีผลกระทบกับเด็กอย่างไรบ้าง สื่อโทรทัศน์มีผลกระทบต่อเด็กในหลายๆ ด้าน รวมทั้งพฤติกรรม ทัศนคติ และความเชื่อ ซึ่งผลอาจเห็นได้ในทันที เช่น ขัดใจ กระทืบเท้า ร้องกรี๊ดๆ เหมือนดาราคนโปรด หรือผลกระทบนั้นค่อยๆ สะสม เมื่อเด็กรับข้อมูลนั้นซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น ใช้การต่อสู้หรือใช้วิธีรุนแรงเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ เห็นว่าการสูบบุหรี่หรือดื่มเหล้าทำให้ดูมีเสน่ห์ น่าสนใจ โดยไม่ได้คำนึงถึงผลเสียต่อสุขภาพ การมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องปกติที่ใครๆ ก็ทำกัน โดยไม่ต้องรับผิดชอบ ไม่ต้องคำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาทั้งการติดโรค และตั้งครรภ์ เป็นต้น ผู้ปกครองจึงจำเป็นต้องมีความรู้ และเข้าใจถึงผลกระทบของโทรทัศน์ที่จะมีต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการและพฤติกรรมของเด็ก ผลต่ออารมณ์และพฤติกรรม ความรุนแรง : จากรายงานของ American Academy of Pediatrics (AAP) พบว่า ปัจจุบันความรุนแรงที่เห็นจากโทรทัศน์และสื่อต่าง ๆ มีเพิ่มขึ้นมาก ประมาณร้อยละ 60 ของรายการต่าง ๆ จะมีความก้าวร้าวรุนแรงสอดแทรกอยู่ รายการของเด็กโดยเฉพาะการ์ตูนที่ผลิตในสหรัฐระหว่างปี ค.ศ. 1937-1999 จะมีความรุนแรงแทรกอยู่ด้วยทุกเรื่อง และมักใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การดูรายการที่มีความก้าวร้าวรุนแรง อาจทำให้เด็กกังวล สงสัย กลัว นอนไม่หลับ ฝันร้ายหรือซึมเศร้า หรืออาจมีแนวโน้มที่จะแสดงความรุนแรงเพิ่มขึ้น เด็กอายุ 2-7 ปีมักตกใจกลัวเมื่อดูรายการที่น่ากลัวเช่นผี สัตว์ประหลาด เพราะเด็กไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องจริงและเรื่องสมมุติได้ เด็กอายุ 8-12 ปี มักจะตื่นเต้นตกใจ เวลาเห็นความรุนแรงผ่านจอโทรทัศน์ไม่ว่าจะเป็นการแสดงหรือภาพข่าว เช่น ภัยพิบัติ สงคราม เหยื่อที่ถูกกระทำ เป็นต้น พ่อแม่ควรอธิบายให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อคลายความกังวลให้กับเด็ก มีการศึกษามากมายถึงความก้าวร้าวรุนแรงในโทรทัศน์ที่มีต่อเด็กและวัยรุ่น ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้ - เด็กที่ดูโทรทัศน์ตั้งแต่เล็ก ๆ จะเรียนรู้ สังเกต จดจำ และซึมซับความรุนแรง และใช้ความก้าวร้าวรุนแรงต่อคนอื่นในการแก้ปัญหา แทนที่จะใช้การควบคุมตนเองหรือใช้วิธีการอื่น - การรับรู้ความรุนแรงผ่านทางสื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นเวลานานๆ จะทำให้เด็กชาชินไปกับความรุนแรง และขาดความเอื้ออาทรต่อบุคคลอื่นในชีวิตจริง และอาจแสดงออกถึงความก้าวร้าวเมื่อโตเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ เพราะเด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะซึมซับสิ่งต่าง ๆ ที่เห็น รายการต่าง ๆ ในโทรทัศน์จะเป็นแม่แบบ สร้างค่านิยม ทัศนคติ หล่อหลอมเด็ก หากพ่อแม่ไม่มีเวลาคอยสอนหรือชี้แนะ พฤติกรรมทางเพศ : รายการต่างๆ มีการแสดงออกของพฤติกรรมทางเพศมากขึ้น รวมทั้งการใช้บุหรี่ เหล้า ยาและสารเสพติดในลักษณะเชิญชวนโดยไม่ได้แสดงถึงผลเสียของสิ่งเหล่านี้ จากคณะทำงานของ AAP ลงความเห็นว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่สำคัญ และวัยรุ่นเรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับเพศศึกษาจากสื่อต่างๆ เป็นอันดับสองรองจากโรงเรียน เด็กๆ ได้เห็นพฤติกรรมทางเพศของผู้ใหญ่ผ่านสื่อโทรทัศน์ ซึ่งแสดงออกถึงความสนุกสนาน ตื่นเต้น และถือเป็นเรื่องปกติโดยไม่ได้สอดแทรกถึงผลเสียที่จะตามมาจากการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัย การติดโรค ตั้งท้อง ความรับผิดชอบหรือหลักศีลธรรมที่ถูกต้อง เด็กวัยรุ่นดูแล้วอาจเข้าใจผิด อยากลอง อยากรู้ หรืออยากทำตามเพื่อให้ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ใหญ่ มีข้อมูลที่แสดงว่าวัยรุ่นที่ดูรายการที่มีการแสดงบทบาททางเพศบ่อยๆ มักจะมีเพศสัมพันธ์ที่อายุน้อยกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้ดู ผลทางโภชนาการ เด็กใช้เวลาในการดูโทรทัศน์มากเป็นอันดับสองรองจากการนอน เด็กที่ดูโทรทัศน์มากมักจะอ้วน เพราะเวลาส่วนใหญ่ถูกใช้ไปในการดูโทรทัศน์ จึงไม่มีเวลาเหลือในการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหว และขณะดูโทรทัศน์เด็กมักกินเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอาหาร เครื่องดื่มหรือขนมขบเคี้ยวที่มีแคลลอรี่สูงที่โฆษณาในโทรทัศน์ นอกจากนั้นสื่อโทรทัศน์ยังเน้นภาพลักษณ์ที่ต้องผอมบาง ทำให้เด็กหญิงกังวลเกี่ยวกับน้ำหนัก และพยายามที่จะควบคุมน้ำหนักตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งจะมีผลเสียต่อการเจริญเติบโตของเด็ก (เด็กส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าภาพลักษณ์ที่ดูดีในโฆษณานั้น สื่อโทรทัศน์ได้ใช้เทคนิคต่างๆ ตกแต่งเพื่อให้ดูสวยงาม) ผลต่อความคิดสร้างสรรและภาษา เด็กที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะเหลือเวลาน้อยลงในการเล่น อ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือพูดคุยกับเพื่อนหรือผู้ใหญ่ ทักษะทางภาษาจะพัฒนาได้ดีต้องอาศัยการพูดคุยสื่อสารสองทาง โต้ตอบกันไปมาผ่านทางการเล่น การอ่าน และทำกิจกรรม รายการโทรทัศน์ทางการศึกษา บางรายการที่ผลิตมาเฉพาะสำหรับเด็ก อาจช่วยให้เด็กที่อายุมากกว่า 2 ปีได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ บทสนทนาหรือทักษะทางสังคม แต่สำหรับเด็กเล็กๆแล้ว เด็กจะเรียนรู้จากของจริงหรือประสบการณ์ตรงได้มากกว่า ผลต่อการเรียน เวลาที่เด็กใช้ในการทำการบ้านมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในการเรียนหนังสือ หากดู TVนานจะมีผลต่อการทำการบ้านและรบกวนเวลานอนของเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กง่วงนอน ไม่มีสมาธิในเวลาเรียน และคะแนนตกต่ำ รายการที่มีคุณภาพจะมีผลดีต่อการเรียนรู้ของเด็ก เด็กวัยเตรียมอนุบาลที่ดูรายการโทรทัศน์ทางการศึกษา ทำคะแนนอ่านและเลขได้ดีกว่าเด็กทีไม่ได้ดู เมื่อเลือกใช้อย่างระมัดระวังและเหมาะสม TV ก็อาจเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีของเด็กๆ โฆษณา เด็กๆ ดูโฆษณา > 20,000 รายการต่อปี วัยรุ่นยอมรับว่าโฆษณาบุหรี่ เบียร์ ไวน์ เหล้าในโทรทัศน์มีผลทำให้วัยรุ่นอยากลองสูบและดื่ม โดยที่โฆษณาเหล่านั้นจงใจที่จะไม่บอกถึงผลเสียที่จะตามมา เด็กเล็กๆ มักจะตกเป็นเหยื่อของโฆษณา ซึ่งเด็กๆ มักจะรบเร้าให้พ่อแม่ซื้ออาหารหรือสิ่งของต่างๆ ตามที่เห็นในโฆษณา ผลกระทบของโทรทัศน์ต่อเด็กเล็ก Anderson และ Pempek 2005 ได้รวบรวมงานวิจัยถึงผลกระทบของโทรทัศน์ที่มีต่อเด็กเล็ก เพื่อยืนยันและสนับสนุนคำแนะนำของ AAP ที่ไม่ให้เด็กอายุน้อยกว่า 24 เดือนดูโทรทัศน์ เพราะปัจจุบันมีรายการที่ตั้งใจผลิตมาเพื่อเด็กเล็ก และเด็กๆปัจจุบันนี้ใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์นานมากกว่าในอดีต เมื่อเปรียบเทียบกันพบว่าเด็กเรียนรู้จากการมีประสบการณ์จริงมากกว่าการเรียนรู้จากโทรทัศน์ การศึกษาส่วนใหญ่ยืนยันถึงผลกระทบในแง่ลบที่มีต่อการเรียนรู้ พัฒนาทางภาษา และสมาธิของเด็กเล็ก และมีเพียงรายงานเดียวที่พบว่ารายการโทรทัศน์บางรายการมีผลดีต่อการเรียนรู้ทางภาษาของเด็ก ในเด็กเล็กแบ่งการรับสื่อโทรทัศน์เป็นสองทางใหญ่ๆ คือ รายการโทรทัศน์ที่ทำมาเพื่อเด็กเล็กโดยเฉพาะ เพื่อให้เด็กสนใจ เข้าใจได้และตั้งใจดู (Foreground television) ซึ่งรายการเหล่านี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับเด็ก ส่วนรายการที่ไม่ได้ทำมาสำหรับเด็ก เด็กดูไม่เข้าใจ ไม่สนใจดู มักเป็นรายการของผู้ใหญ่ (Background Television) ซึ่งมักจะรบกวนสมาธิของเด็กในการเล่นหรือทำกิจกรรมร่วมกับพ่อแม่ หากพ่อแม่ดูโทรทัศน์เป็นเวลานานๆ จะลดเวลาที่จะเล่นและมีปฎิสัมพันธ์กับเด็กลง ทำให้การเรียนรู้ของเด็กลดลง ตั้งแต่มีการผลิตวีดีโอสำหรับเด็กเล็ก เช่น Baby Einstein และรายการโทรทัศน์เรื่อง Teletubbies ในปี 1990s เด็กเล็กๆ ใช้เวลาในการดูโทรทัศน์เพิ่มขึ้นมาก พบว่าเด็กเล็กอายุ 2 ½ –24 เดือน ดูโทรทัศน์เฉลี่ยวันละ 2 ชม. ผลต่อพัฒนาการด้านการมองและการฟัง ขณะดูโทรทัศน์ ลูกตาจะมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก ซึ่งการกลอกตาและให้ลูกตาได้มีการเคลื่อนไหวมองสำรวจ สังเกตสิ่งต่างๆ จำเป็นสำหรับการมองเห็นและพัฒนาด้านมิติสัมพันธ์ (การกะระยะและมองภาพ 3 มิติ) ซึ่งการดูโทรทัศน์นอกจากเป็นการมองภาพเพียงสองมิติแล้ว ยังมีผลต่อการจ้องมอง สังเกต และสมาธิ ส่วนในเรื่องของทักษะการฟังนั้น การเปิดโทรทัศน์ตลอดเวลาจะรบกวนสมาธิในการฟังของเด็ก ส่วนผลของรายการโทรทัศน์ซึ่งนำเสนอภาพและเสียงที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว อาจจะกระตุ้นเด็กมากเกินไป มีผลต่อสมาธิของเด็ก และอาจมีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น เมื่อเข้าสู่วัยเรียนนั้น งานวิจัยยังมีข้อขัดแย้ง และยังไม่สามารถสรุปได้ บทบาทของพ่อแม่ พ่อแม่ควรมีบทบาทในการดูโทรทัศน์ของเด็กโดย 1. เข้าใจถึงบทบาทและอิทธิพลของโทรทัศน์ที่มีต่อเด็กทั้งในแง่บวกและลบ เพื่อเลือกใช้โทรทัศน์ให้ได้ประโยชน์เต็มที่แก่เด็ก เด็กเล็กๆ แม้อายุน้อยกว่า 1 ปี ชอบและสนใจดูโทรทัศน์ แต่พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการให้เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีดูโทรทัศน์ ถึงแม้ว่าจะมีการผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเด็กเล็กๆ ก็ตาม งานวิจัยเกี่ยวกับพัฒนาการของสมองแสดงให้เห็นว่าเด็กเล็กๆ ควรได้ทำกิจกรรมที่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นและกระตุ้นการเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า เช่น ร้องเพลง พูดคุย อ่านหนังสือ เล่านิทาน วิ่งเล่น และทำกิจกรรมหลากหลาย เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาของสมองและทำให้เด็กพัฒนาทักษะทางสังคม อารมณ์และทักษะด้านอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ 2. พ่อแม่ควรมีความรู้เกี่ยวกับสื่อ เพื่อให้เข้าใจและรู้ทันสื่อ สามารถเลือกใช้โทรทัศน์ให้เกิดประโยชน์แก่เด็กและหลีกเลี่ยงผลเสียที่จะตามมา ให้ทราบถึงข้อแนะนำของ AAP ในการดูโทรทัศน์ เช่น · พ่อแม่ควรสร้างกฎ กติกาในการดูโทรทัศน์กับลูก และทำให้ได้ · เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรดูโทรทัศน์ · เด็กเตรียมอนุบาล (Preschool) ไม่ควรดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ 1-2 ชม. ยิ่งดู TV นานมากเท่าไร จนเหลือเวลาในการทำกิจกรรมอื่นน้อยลงเท่านั้น · เด็กวัยเรียนอาจดูได้มากกว่านี้ แต่พ่อแม่ควรต้องช่วยเลือกรายการหรือดูโทรทัศน์ร่วมกับลูกๆ พูดคุยถึงรายละเอียดของรายการที่ลูกดู เพื่อช่วยชี้แนะ ถาม-ตอบ ฝึกแก้ปัญหา · ไม่ให้มีโทรทัศน์ในห้องนอนเด็ก · เลือกรายการที่มีสาระ ให้ข้อมูลข่าวสาร ให้ความรู้แก่เด็ก และควรหลีกเลี่ยงรายการที่มีความก้าวร้าวรุนแรง · กำหนดรายการที่จะดูโทรทัศน์ให้ชัดเจน เมื่อจบรายการให้ปิดทีวี ไม่กดปุ่มเปลี่ยนช่องไปเรื่อยๆ · สนับสนุนให้เด็กและวัยรุ่นได้ทำกิจกรรมอื่น เช่น เล่นกีฬา อ่านหนังสือ หางานอดิเรกทำ · ไม่ดูโทรทัศน์ขณะทานอาหารหรือก่อนทำการบ้านเสร็จ · พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการดูโทรทัศน์ เพราะพ่อแม่จะเป็นต้นแบบให้เด็กทำตาม โดยสรุป โทรทัศน์เป็นสื่อที่สำคัญที่เข้าถึงทุกครัวเรือน และมีอิทธิพลอย่างมากต่อพัฒนาการ พฤติกรรม และการเรียนรู้ของเด็ก ผู้ปกครองควรทราบถึงผลดี และผลเสียของรายการโทรทัศน์ที่มีต่อเด็ก จำกัดเวลาและรายการที่เหมาะสมร่วมกับเด็ก พร้อมทั้งให้พ่อแม่ได้มีโอกาสพูดคุย แลกเปลี่ยนสถานการณ์กับเด็กโดยใช้รายการโทรทัศน์เป็นสื่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์ และป้องกันผลเสียที่จะตามมาจากสื่อโทรทัศน์ รศ.พญ.จันท์ฑิตา พฤกษานานนท์ คลินิกเด็ก ดอท คอม |
เรื่องน่ารู้ในการดูแลฟันเด็ก
ในปัจจุบันถึงแม้ว่าผู้คนจะให้ความสนใจและใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของเด็ก และถ้าท่านเป็นคนหนึ่งในนั่นแล้วละก็ ผมขอเตือนให้เปลี่ยนความคิดนั้นเสียใหม่โดยเร็ว พร้อมทั้งหันกลับมาให้ความใส่ใจสุขภาพช่องปากของเด็กหรือลูกหลานของท่านให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากทัศนคติและนิสัยต่างๆของเด็ก จะเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่แรกเกิดเลยทีเดียว และจะเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้เด็กผู้นั้นสนใจที่จะดูแลรักษาสุขภาพช่องปากของตัวเองต่อไปในอนาคต จนตลอดชีวิต
ประโยชน์ของฟลูออไรด์
ฟลูออไรด์ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายว่า มีส่วนช่วยในการป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันตแพทย์อาจจะแนะนำหลายๆหนทาง ในการให้ฟลูออไรด์ในเด็กดังนี้
ดื่มน้ำดื่มที่มีฟลูออไรด์
รับประทานฟลูออไรด์ชนิดเม็ดหรือชนิดน้ำ ในกรณีที่ในชุมชนนั้นมีค่าฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม ต่ำกว่ามาตรฐาน
การเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์
การแปรงฟันด้วย ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบ
การใช้น้ำยาบ้วนปาก ที่มีฟลูออไรด์เป็นส่วนประกอบในเด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไป
จากผลการวิจัยพบว่าฟลูออไรด์ จะช่วยลดการเกิดฟันผุได้มากกว่า 50% ในเด็กทีเดียวครับ
ฟันผุจากขวดนม (Baby Bottle Tooth Decay)
การเกิดฟันผุจากขวดนม จะทำให้ฟันน้ำนมได้รับความเสียหาย และถูกทำลายได้ สาเหตุของฟันผุจากขวดนมเกิดขึ้นมาจาก การที่ฟันของเด็กสัมผัสกับของเหลว ที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอยู่เป็นประจำ เช่น นมขวด รวมถึงนมแม่ด้วย , น้ำผลไม้ และน้ำหวานต่างๆ
สมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้กระทำสิ่งต่างๆต่อไปนี้เพื่อป้องกันการเกิดฟันผุในเด็ก เริ่มทำความสะอาดช่องปากให้เด็กทารกที่มีอายุเพียง 2-3 วันหลังจากการดูดนมแม่ทุกครั้ง โดยการใช้ผ้าชุบน้ำหรือผ้าก๊อซเช็ดตามบริเวณเหงือกของเด็ก ทั้งนี้เพื่อขจัดคราบต่างๆออกไป อย่าให้เด็กอมขวดนมหรือดูดนมแม่ติดต่อกันนานมากเกินไป ห้ามให้เด็กดูดนมหรือน้ำหวานต่างๆจนกระทั่งเด็กหลับคาขวดนม ถ้าเด็กติดขวดนมจริงๆก็ให้ใช้น้ำเปล่าใส่ขวดนมให้เด็กดูดแทน พยายามให้เด็กเลิกดูดขวดนมโดยเร็วที่สุด และดื่มนมจากถ้วยแทนเมื่อเด็กเริ่มถือถ้วยเองได้แล้ว
ปลูกฝังให้เด็กรู้จักการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และสอนให้เด็กมีสุขลักษณะนิสัยที่ดีในการรับประทานอาหาร
การเคลือบร่องฟัน
การเคลือบร่องฟัน จะสามารถช่วยป้องกันฟันผุที่จะเกิดบนด้านบดเคี้ยว ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ที่สุดในการเกิดฟันผุในเด็กได้
วัสดุที่ใช้จะเป็นพลาสติกใสหรือมีสีอื่นๆก็ได้ โดยจะเคลือบไปบนด้านบดเคี้ยว อุดปิดหลุมและร่องบนตัวฟันของฟันหลัง ซึ่งเป็นที่ที่จะเกิดฟันผุได้บ่อยมาก
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องการเคลือบร่องฟันได้ที่นี่
เด็กชอบดูดนิ้ว
ในทารกหรือเด็กเล็กการดูดนิ้วถือเป็นสิ่งปกติ อย่างไรก็ตามเมื่อฟันแท้เริ่มขึ้นมาในช่องปาก และถ้าเด็กยังคงติดนิสัยดูดนิ้วอยู่แล้วละก็ เด็กอาจจะมีความผิดปกติในการเจริญเติบโต ของอวัยวะในช่องปาก รวมทั้งการเรียงตัวของฟันก็อาจจะผิดปกติไปด้วย
เรื่องนี้ทางสมาคมทันตแพทย์ แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้ให้คำแนะนำเอาไว้ว่า
ควรให้เด็กเลิกดูดนิ้วโดยเด็ดขาด ในทันทีที่ฟันแท้ซี่แรกขึ้นมาในช่องปาก ซึ่งปกติจะเมื่อเด็กอายุประมาณ 6-7 ขวบ
พ่อแม่ควรจะให้รางวัลเด็ก เมื่อเด็กสามารถ หยุดหรือเลิกจากการดูดนิ้วได้
ถ้าการตักเตือนดีๆ เช่น การให้รางวัลหรือใช้เหตุผลไม่ได้ผล พ่อแม่อาจจะผ้าพันแผลพันที่ นิ้วเด็กเอาไว้เมื่อเด็กเข้านอน หรือจะใช้ถุงเท้าสวมมือเด็กเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กดูดนิ้วได้
ฟันยางป้องกัน
ในเด็กที่ชอบออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาเสมอๆ เช่น ฟุตบอล , ขี่จักรยาน , Roller Blade , Skate ควรจะใส่ฟันยางเอาไว้เพื่อป้องกันการกระแทกกันของฟัน ซึ่งจะทำอันตรายต่อฟัน เหงือกและช่องปากได้
ฟันยางแบบสำเร็จรูป สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านค้าทั่วๆไป และทำไว้หลายขนาดให้เลือกตามขนาดของช่องปาก อย่างไรก็ตามถ้าต้องการฟันยางที่สามารถใส่ได้พอดี กับช่องปากของเด็กแต่ละคน ทันตแพทย์ก็สามารถทำให้ได้ ปรึกษาทันตแพทย์ของท่านถึงฟันยางป้องกันได้ครับ
ภาวะฉุกเฉินต่างๆ
การปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินในทางทันตกรรมในเด็ก จะเป็นจุดตัดสินว่า เด็กจะสามารถเก็บรักษาฟันเอาไว้ได้ต่อไปหรือไม่ ทางสมาคมทันตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำต่างๆเมื่อเกิด ภาวะฉุกเฉินทางทันตกรรมในเด็กไว้ดังนี้
ฟันหลุดออกมาจากช่องปากเนื่องจากอุบัติเหตุ ถ้าฟันสกปรกหรือมีฝุ่นผงติดอยู่ ให้ล้างฟันด้วยน้ำก๊อกที่ไหลเบาๆ ห้ามขัดถูเพื่อเอาเศษเนื้อที่ติดอยู่ออก จากนั้นให้ใส่ฟันซี่นั้นกลับไป ในที่ที่มันหลุดออกมา แล้วจึงพาเด็กไปพบทันตแพทย์ แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ให้นำฟันใส่ลงในถ้วยที่มีน้ำเย็นอยู่ แล้วพาเด็กพร้อมกับฟันซี่นั้น ไปพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด ถ้าเป็นไปได้ควรไปพบทันตแพทย์ภายใน 30 นาที
ปวดฟัน ให้เด็กบ้วนปากด้วยน้ำอุ่น เพื่อทำให้ช่องปากสะอาด จากนั้นให้ใช้ไหมขัดฟันเพื่อกำจัดเศษอาหาร ที่อาจจะติดอยู่บริเวณซอกฟัน ห้ามใช้ยาแก้ปวดไปแปะติด ตรงบริเวณที่ปวดฟันเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดแผลไหม้ได้ จากนั้นให้พาเด็กมาพบทันตแพทย์ให้เร็วที่สุด
เท่านี้หลายๆท่านคงจะสามารถดูแลฟันเด็กได้ดียิ่งขึ้นแล้วนะครับ ที่สำคัญคือ อย่าลืมพาเด็กไปตรวจสุขภาพฟันกับทันตแพทย์ทุก 6 เดือนครับ
เอกสารอ้างอิง : ADA News Release ; Feb 1996 ; American Dental Association
แหล่งที่มา http://www.siamdental.com/indexconf.htm